แนวคิดเรื่องอาชญากรเด็กและเยาวชนในวรรณกรรมแปลญี่ปุ่น เรื่อง บาปนางฟ้า ของ ยาคุมารุ กาคุ

โดย นางสาวศิริวรรณ วรรณภัณฑ์พินิจ

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ของวรรณกรรม และเพื่อวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอาชญากรเด็กและเยาวชนในสังคมญี่ปุ่น โดยศึกษาจากวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นเรื่อง บาปนางฟ้า ของยาคุมารุ กาคุ แปลโดย มินามิโดยใช้ต้นฉบับภาษาไทยจากสำนักพิมพ์เนชั่น ผลการศึกษาพบว่า ในด้านวรรณกรรม มีโครงเรื่อง เป็นความขัดแย้งระหว่างตัวเอกของเรื่อง คือ ฮิยามะ ทากาชิ ที่สนับสนุนการลงโทษอาชญากรเด็กกับคู่กรณี คือ สังคมซึ่งสนับสนุนการให้การปกป้องและฟื้นฟูอาชญากรเด็ก เปิดเรื่องด้วยการบรรยาย ปิดเรื่องแบบหักมุม มีแก่นเรื่องอยู่ที่การวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการพิจารณาลงโทษอาชญากรเด็กและเยาวชน ซึ่งผู้แต่งได้เสนอความคิดที่เป็นการประณีประนอมกับทั้งฝ่ายผู้กระทำผิดและฝ่ายผู้เสียหาย โดยมีแนวคิดอื่น ๆ ที่เสริมแก่นเรื่องหลัก คือ คนเราควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าที่จะจมอยู่กับเรื่องในอดีต และพฤติกรรมของเด็กมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว มีการใช้ฉากเพื่อสร้างบรรยากาศและในเชิงสัญลักษณ์ ตัวละคร พบว่า แบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภท คือ ตัวละครที่เป็นอาชญากรเด็ก ตัวละครที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาชญากรรมที่เยาวชนเป็นผู้ก่อ และตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เยาวชนเป็นผู้ก่อ กลวิธีในการแต่ง กลวิธีเกี่ยวกับผู้เล่าเรื่องใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบผู้เล่าเรื่องแบบเสมือนมีตัวตนแบบรู้จำกัดเฉพาะตัวละครฮิยามะ ทากาชิ เป็นส่วนใหญ่ กลวิธีเกี่ยวกับการดำเนินเรื่องใช้วิธีการเล่าเรื่องย้อนต้น และใช้องค์ประกอบอื่นๆ ที่ช่วยเสริมแก่นเรื่อง ได้แก่ การอ้างถึงบทเพลงเพื่อเสริมอารมณ์ การใช้วัตถุเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนบางสิ่งและการตั้งชื่อตัวละคร ส่วนแนวคิดเรื่องอาชญากรเด็กและเยาวชนที่ปรากฏพบว่า มีแนวคิดหลัก 2 ประการ คือแนวคิดเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิเด็กและเยาวชนและแนวคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูอาชญากรเด็กและเยาวชน

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf