การศึกษารูปแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของสาธารณรัฐประชาชนจีน: กรณีศึกษา มหานครฉงชิ่ง

เจณิสตา ทิพย์คูนอก

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์“การศึกษารูปแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของสาธารณรัฐประชาชนจีน: กรณีศึกษา มหานครฉงชิ่ง”มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในมหานครฉงชิ่งจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ตั้งแต่ฉบับที่ 12 – 14 และผลกระทบภายหลังการพัฒนา วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้มหานครฉงชิ่งกลายเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมีวิธีการศึกษาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นำมาวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้มหานครฉงชิ่งกลายเป็นเมืองอัจฉริยะ

ผลการศึกษาพบว่า รัฐบาลท้องถิ่นของมหานครฉงชิ่งได้ประกาศใช้นโยบายและแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเริ่มตั้งแต่ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2554 – 2558) เป็นต้นมา ในช่วงเวลาดังกล่าว มหานครฉงชิ่งได้รับเลือกให้เริ่มเมืองอัจฉริยะนำร่องแห่งชาติ ส่วนผลกระทบภายหลังการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงเวลาเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงศักยภาพด้านเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกัน ด้านสังคมมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและอัตราการขยายตัวของเมือง เนื่องมาจากภาพลักษณ์โดยรวมของเมืองที่ดีขึ้นและการหลั่งไหลของผู้คนจากนอกเมืองก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และปัจจัยที่มหานครฉงชิ่งกลายเป็นเมืองอัจฉริยะประกอบด้วย 1) จุดเด่นของตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ 2) รากฐานทางอุตสาหกรรมที่มั่นคง 3) นโยบายของภาครัฐที่ชัดเจน