ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนในการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : กรณีศึกษาอำนาจอ่อนผ่านสถาบันขงจื่อในไทย

โดย นางสาวพรรณทิพย์ สุทธาเวศ

บทคัดย่อ

สถาบันขงจื่อเป็นองค์กรหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาภาษาจีนรวมทั้งการให้ทุนการศึกษาแก่ผู้สนใจในประเทศต่างๆ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนยุทธศาสตร์จีนเรื่องอำนาจอ่อนผ่านการใช้อำนาจอ่อนด้านภาษาและวัฒนธรรมและศึกษาผลสำเร็จในการใช้ยุทธศาสตร์อำนาจอ่อนของจีนโดยศึกษาจากการปรากฎตัวของสถาบันขงจื่อในไทย  โดยขอบเขตการศึกษาผ่านสถาบันขงจื่อในไทยทั้ง 3 แห่งได้แก่ 1)สถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2)สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3)สถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยบูรพา

ดำเนินการศึกษาแบบผสม คือ ศึกษาผ่านกรอบทฤษฎีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง จากการอ่านทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วไป โดยเฉพาะอำนาจอ่อน อำนาจแข็ง ตัวแบบระบบเอเชียและศึกษาผ่านการสัมภาษณ์แบบบังเอิญและแบบผู้รู้จักกระจายแบบสอบถามผ่านสื่อออนไลน์(www.facebook.com) โดยสัมภาษณ์จากกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เกี่ยวข้องทางตรง กลุ่มผู้เกี่ยวข้องทางอ้อม และกลุ่มผู้ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันขงจื่อ จำนวนกลุ่มละ 10 คน รวมเป็น 30 คน เพื่อประกอบการวิเคราะห์โดยนำเสนอเป็นร้อยละในตารางเปรียบเทียบ

จากผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า สถาบันขงจื่อประสบความสำเร็จในการเป็นเครื่องมือของยุทธศาสตร์อำนาจอ่อนระหว่างประเทศของจีน เนื่องจากมีลักษณะที่ดึงดูดใจและสามารถทำให้ภาพลักษณ์ของจีนรวมถึงความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศต่างๆเป็นไปในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งจากพฤติกรรมที่โอนอ่อนของจีนยังสามารถคาดการณ์ระเบียบเอเชียในอนาคตได้ว่าจะเป็นดังเช่นตัวแบบ ‘A condominium of Power’ ที่เป็นตัวแบบการถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐฯและมีชาติต่างๆยอมอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ลดหลั่นลงมา นอกจากนี้ผู้ศึกษายังได้เสนอแนะทั้งสิ้น 2 เรื่อง ได้แก่ 1) ผู้บริหารของสถาบันขงจื่อและไทยควรปรึกษากันเรื่องการส่งเสริมให้หน่วยงานฝ่ายไทย มีบทบาทในการคัดเลือกอาสาสมัครที่มาจากจีนเอง  2) เนื้อหาในการเรียนการสอนภาษาจีนควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่สอดแทรกวัฒนธรรมไทยบ้าง เพื่อป้องกันการลืมวัฒนธรรมของตนและลดการกลืนกลายทางวัฒนธรรม

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf