การจัดระเบียบพฤติกรรมมารยาทที่ดีของจีน

โดย นางสาวแพรว ฉั่วตระกูล

บทคัดย่อ

รัฐบาลจีนดำเนินการจัดระเบียบพฤติกรรมของคนจีน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ จีนจึงได้สร้างหน่วยงานกิจการด้านการท่องเที่ยวของจีน ขึ้นภายใต้ความรับผิดชอบของ สำนักงานบริหารการท่องเที่ยวแห่งชาติของจีน หรือ “จงกว๋อลวี่อิ๋วจวี๋” ซึ่งสำนักงานนี้ ประกอบด้วยหน่วยงานย่อยที่ที่รับผิดชอบนโยบายต่างๆ โดยตรง โดยได้มีการกำหนดนโยบายหลักเป็น 2 นโยบาย คือ นโยบายการเป็นเจ้าบ้านที่ดีของจีนในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และนโยบายการเป็นนักท่องเที่ยวที่ดีของจีน  โดยเนื้อหาสาระของนโยบายดังกล่าวในภาพรวมแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ 1. การควบคุมการแสดงออกด้านพฤติกรรมบุคคล  2.การควบคุมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม     3. การควบคุมด้านวัฒนธรรม และ 4. การควบคุมด้านสื่อประชาสัมพันธ์

การวิเคราะห์นโยบาย ผู้วิจัยใช้หลักแนวคิด ของมิเชล ฟุโกต์ ในการวิเคราะห์ เป็น 3 ประเด็น คือ

  1. อำนาจและการปกครองสมัยใหม่  นโยบายการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และนโยบายนักท่องเที่ยวจีนที่ดี  จึงเสมือนการดึงเอาความเป็นตัวตน ของคนจีน อัตลักษณ์ที่คนทั่วโลกต่างกล่าวขาน มาใช้เป็นอำนาจ บ่มเพาะพฤติกรรม ปลูกฝังอารยธรรมที่ดีงาม ผ่านกระบวนการใช้อำนาจทางสังคม ซึ่งเป็นวิธีการใช้อำนาจอย่างแนบเนียนเปลี่ยนแปลงการกระทำของชาวจีน
  2. เทคนิคในการควบคุมวินัย ที่ไม่ได้เป็นการบังคับโดยตรง แต่เป็นการกดบังคับที่มองไม่เห็น ทำให้คนจีนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการใช้ชีวิตประจำวัน จนนโยบายสามารถเข้าควบคุมพฤติกรรมของคนจีน ให้คนจีนต้องยอมรับไปและกลายเป็นพฤติกรรมใหม่
  3.   วาทกรรม นั้นส่งผลต่ออัตลักษณ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ทางสังคม ระบบความรู้และความเชื่อในสังคม จากการศึกษานโยบายการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนจีน ผู้วิจัยได้ค้นพบวาทกรรมมูลเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงและวาทกรรมแห่งการเปลี่ยนแปลง

รัฐบาลจีนในฐานะผู้ปกครองประเทศมหาอำนาจอันดับสองของโลก จึงมีหน้าที่สำคัญในการบริหารคนในประเทศให้เป็นคนที่มีคุณภาพและมีวัฒนธรรมตามหลักสากล ซึ่งรัฐบาลจีนให้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้กำหนดนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดีอย่างทันท่วงทีในระนะสั้นและสามารถปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีงามเหล่านี้ต่อไปในระยะยาว จนกลายเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของคนจีน เพื่อให้ชาวโลกต่างยอมรับในความเป็นประเทศมหาอำนาจที่ทรงอำนาจทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครองที่สมบูรณ์

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf