ฮาเร็ม : เพศภาวะ เพศวิถี และวัฒนธรรมต่อต้าน

โดย นางสาวรุจิเลขา สกุลลิขเรศสีมา

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่อง ฮาเร็ม : เพศภาวะ เพศวิถีและวัฒนธรรมต่อต้าน มีวัตถุประสงค์หลักคือ ศึกษาเพศภาวะและเพศวิถีของตัวละครในการ์ตูนฮาเร็ม และศึกษาวัฒนธรรมต่อต้านเพศภาวะและเพศวิถีในการ์ตูนฮาเร็มของโลกเสมือนจริงกับโลกความเป็นจริง การศึกษาในครั้งนี้ได้ศึกษาและวิเคราะห์ผ่านการ์ตูนฮาเร็มเรื่อง To Love-Ru 18 เล่ม  และ To Love-Ru Darkness 10 ตอน

ในการศึกษาเพศภาวะและเพศวิถีของตัวละคร ผู้วิจัยได้เลือกศึกษาทั้งหมด 5 ตัวละคร ได้แก่ ยูกิ
ริโตะ , ลาล่า ซาตาริน เดวิลลูค , ไซเร็นจิ ฮารุนะ , ยูกิ มิคัง และ โมโมะ เวเลีย เดวิลลูค จากการศึกษาพบว่าแต่ละตัวละครนั้นมีความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างกันทั้งในด้านของเพศภาวะและเพศวิถี โดยสิ่งที่ทำให้มีความแตกต่างนั้นคือ ที่มาของแต่ละตัวละครที่ต่างกันและเหตุการณ์ต่างๆ สำหรับเพศภาวะบางตัวละครนั้นมีความเป็นผู้หญิงแบบเก่า แต่ในขณะที่อีกตัวละครมีลักษณะของผู้หญิงแบบใหม่ ในส่วนของเพศวิถีนั้นผู้หญิงเริ่มมีการแสดงออกในเรื่องของเพศมากขึ้นกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและมีความหลากหลายมากขึ้น

ผู้วิจัยได้ศึกษาและพบว่า การ์ตูนฮาเร็มที่ถูกสร้างมานั้นเพื่อสอบสนองในเรื่องของความต้องการทางเพศบางประการที่ไม่สามารถเกิดหรือปฏิบัติได้ในชีวิตจริง ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการปลดปล่อยจากกรอบและพื้นที่เดิมๆ การต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลักนั้นจะต่อต้านเพศวิถีมากกว่าเพศภาวะ เช่น ลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพบางประการเริ่มเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม  แต่จะต่อต้านในแง่ที่ทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ โดยสร้างตัวละครผู้หญิงและมีฉากวาบหวามเย้ายวนออกมาในแบบที่ความเป็นจริงไม่สามารถที่จะมีได้ รวมไปถึงในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงที่ไม่เคยมีความขัดแย้งกัน นอกจากนี้ยังมีการต่อต้านในเรื่องของเพศวิถีพบว่า รสนิยมเรื่องเพศนั้นไม่สามารถตอบสนองในโลกของความเป็นจริงได้ อย่างเช่น ทำให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายรุกเข้าหาผู้ชายก่อน และผู้ชายนั้นสามารถแต่งงานหรือมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคนได้ โดยไม่ถูกสังคมมองในแง่ร้าย  แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ยังมีค่านิยมในเรื่องของเพศวิถีที่เหมือนกับในชีวิตจริงก็คือเรื่องที่ผู้หญิงจะต้องเป็นหญิงสาวพรหมจรรย์

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf