“ลำนำกระเทียม : การต่อสู้และการยอมจำนนของชนชั้นล่างในสมัยเติ้ง เสี่ยวผิง”

โดย นางสาวศุภานัน ลีอารีย์กุล

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้เป็นการศึกษาตัวละครผ่านวรรณกรรมเรื่องลำนำกระเทียม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างตัวละครและบทบาทตัวละครผ่านวรรณกรรมเรื่องลำนำกระเทียม ผลการศึกษาพบว่า ผู้เขียนสร้างตัวละครที่มีลักษณะคู่ขนานกันตลอดทั้งเรื่องเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน และวิพากษ์ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมผ่านตัวละครในเรื่อง โดยกำหนดให้ตัวละครเกาหยังแทนคนชนชั้นล่างที่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ และให้ตัวละครเกาหม่าแทนคนชนชั้นล่างที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งมีการศึกษาและการเลี้ยงดูจากครอบครัวเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของตัวละคร ให้เกาหยังมีการศึกษาน้อยและถูกเลี้ยงดูให้อ่อนแอและว่าง่าย ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ และให้เกาหม่ามีการศึกษาสูงและมีนิสัยมุทะลุ ก้าวร้าว ต่อสู้กับอำนาจรัฐ การเปรียบเทียบนี้ได้แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมผ่านระบอบสังคมนิยมในยุคเติ้ง เสี่ยวผิงว่ายังคงมีการแบ่งแยกชนชั้นและกดขี่ข่มเหงเกิดขึ้น อันขัดกับเป้าหมายสำคัญของระบอบสังคมนิยมที่ต้องการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม สิ่งที่พบนอกเหนือไปจากการแบ่งแยกชนชั้นและการกดขี่ข่มเหงกันแล้ว ยังพบว่า ผู้เขียนได้วิพากษ์นโยบายของเติ้ง เสี่ยวผิงว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง จากเหตุการณ์ประท้วงของชาวไร่กระเทียม อันเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf