ศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมแปลญี่ปุ่นเรื่อง โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

โดย นางสาวสุมณี เริงเกษตรกิจ

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเล่มนี้เป็นการศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมแปลญี่ปุ่น โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางวรรณกรรม ทั้งโครงเรื่อง แก่นเรื่อง ตัวละคร บทสนทนา ฉากและบรรยากาศ อีกทั้งยังศึกษาคุณค่าด้านการศึกษา ด้านคุณธรรมและจริยธรรม

ผลการศึกษาพบว่าวรรณกรรมเรื่องนี้มีองค์ประกอบทางวรรณกรรมครบถ้วน วางโครงเรื่องน่าสนใจและมีส่วนประกอบของโครงเรื่องครบทั้ง 6 ส่วน คือ การเปิดเรื่อง การผูกปม การหน่วงเรื่อง จุดสุดยอด การคลายปม และการปิดเรื่องที่สร้างความประทับใจให้กับผู้อ่าน ผู้เขียนได้สื่อแก่นเรื่องให้ผู้อ่านทราบถึงเรื่องการสอนของครูที่ถึงแม้ว่าจะมีรูปแบบการสอนแตกต่างกับโรงเรียนอื่น แต่ก็สามารถสอนให้เด็กมีความรู้ คุณธรรมและจริยธรรม รู้จักการใช้ชีวิต สิ่งสำคัญคือต้องอาศัยผู้ใหญ่ที่เข้าใจและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กด้วย การทำความเข้าใจเด็กและใช้วิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสมนั้นจะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาแบบไม่มีปัญหา ตัวละครในเรื่องมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เรื่องดำเนินไปอย่างราบรื่นและสมจริง ทั้งยังใช้บทสนทนาที่มีความเหมาะสมกับตัวละครในเรื่อง ทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินและเข้าใจนิสัยของตัวละครมากยิ่งขึ้น และสิ่งที่ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการนั่นก็คือฉากและบรรยากาศ ห้องเรียนรถไฟ สถานที่ในประเทศญี่ปุ่นที่ผู้เขียนนำมาบรรยายให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติ ส่วนคุณค่าด้านการศึกษา ด้านคุณธรรมและจริยธรรม ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้เหมาะกับผู้อ่านทุกวัยอย่างมาก

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf