การวิเคราะห์วิถีชีวิตชาวจีนในหมู่บ้านชนบทช่วงทศวรรษ 1960-1980 ที่สะท้อนผ่านพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เรื่อง “หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า” 

โดย นางสาวกฤตยา  เฟื่องวงษ์

บทคัดย่อ

บทความวิจัยฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์พระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เรื่อง “หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ วิถีชีวิตชาวจีนในหมู่บ้านชนบทช่วงทศวรรษ 1960-1980  ที่สะท้อนผ่านพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เรื่อง  “หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า”

ผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่าวิถีชีวิตชาวชนบทจีนในหมู่บ้านเล็กตระกูลเป้านั้น จะผูกติดกับวัฒนธรรม ประเพณี วิถีปฏิบัติที่สืบต่อกันมา ได้แก่ การดูแลผู้สูงอายุเสมือนเป็นญาติคนหนึ่ง และยังมีการใช้แซ่เดียวกันทั้งหมู่บ้าน รวมถึงการมีสะใภ้เด็ก มีเด็กหญิงจำนวนหนึ่งที่ถูกบิดามารดาขายให้กับบุคคลอื่นไปเป็นสะใภ้ ซึ่งจะไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจอะไรได้ด้วยตัวเอง และมีสภาพที่ลำบากจากการถูกกดขี่ ดูแคลน และเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับหญิงหม้าย นั่นคือ หญิงหม้ายที่มีสามีใหม่ถือเป็นเรื่องที่ผิด เพราะฉะนั้นถ้าสามีตายก็ห้ามแต่งงานใหม่ และทัศนคติเกี่ยวกับอาชีพ ในเรื่องของความคิดที่ยึดมั่นว่าอาชีพพ่อค้าคืออาชีพที่ไร้เกียรติ เพราะต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการค้าเพื่อจะขายสินค้า และความเชื่อเรื่องการเผาของใช้ของเด็กที่ตายไปแล้ว เพราะคนในหมู่บ้านเล็กตระกูลเป้าเชื่อว่าถ้ามีการเก็บของใช้ของเด็กที่ตายไปแล้วไว้ในบ้านจะนำพาสิ่งไม่ดีเข้ามาในชีวิต และสุดท้ายคือการให้คุณค่าต่อคนที่มีความเสียสละ มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อผู้อื่นและมีความกล้าหาญ คนในหมู่บ้านตระกูลเป้าจะชื่นชม ยกย่อง และให้คุณค่าความดี การมีคุณธรรมจริยธรรม ดังเช่น ตัวละครเด่นในเรื่อง ที่เป็นเด็ก คือ “เลาจา” ที่มีความเสียสละอันยิ่งใหญ่แม้ตัวเขาจะเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆก็ตาม วิถีชีวิตของตัวละครในหมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า เป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตของชาวจีนในหมู่บ้านชนบทช่วงทศวรรษ 1960 -1980

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf