จางอ๊กจอง จากนางในสู่ตำแหน่งพระมเหสีแห่งอาณาจักรโชซอน : ศึกษาจากละครชุดเรื่องจางอ๊กจองและทงอี จอมนางคู่บัลลังก์

โดย นางสาวพิไลวรรณ มรรคไชยสถาพร

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่อง “จางอ๊กจอง จากนางในสู่ตำแหน่งพระมเหสีแห่งอาณาจักรโชซอน : ศึกษาจากละครชุดเรื่องจางอ๊กจองและทงอี จอมนางคู่บัลลังก์” มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาพระราชประวัติของจางอ๊กจองหรือพระสนมฮีบินซึ่งเดิมเป็นบุคคลในชนชั้นทาส ก่อนจะเข้ามาเป็นนางในในวังหลวง และได้สถาปนาขึ้นเป็นพระสนมและพระมเหสีในพระเจ้าซุกจง องค์จักรพรรดิลำดับที่ 19 และเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าคยองจง องค์จักรพรรดิลำดับที่ 19 แห่งราชวงศ์โชซอน ที่นำมาเผยแพร่ในรูปแบบลครชุดทางโทรทัศน์

ผลจากการศึกษาพบว่าการนำพระราชประวัติจางอ๊กจองหรือพระสนมฮีบินมาทำเป็นละครชุดทางโทรทัศน์ทั้งสองเรื่องมีความสอดคล้องทางบันทึกประวัติศาสตร์และความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ควบคู่กัน และสาเหตุของความแตกต่างคือบริบทในละครชุดทางโทรทัศน์ทั้งสองเรื่องของพระนางจางอ๊กจองถูกปรับเปลี่ยนให้เอื้อต่อตัวละครหลักของเรื่อง กล่าวได้ว่าการทำละครชุดทางโทรทัศน์ออกมานั้นต้องสอดคล้องกับยุคสมัยเพื่อทำให้ผู้ชมสนใจที่จะรับชม การทำละครให้มีเนื้อหาเช่นเดิมซ้ำๆ หลายเรื่อง นำเสนอแง่มุมด้านเดิมๆ ออกมาจึงไม่เป็นที่สนใจ ทางผู้จัดทำละครชุดทางโทรทัศน์เรื่อง ‘จางอ๊กจอง’ ในปี 2013 จึงเสนอในมุมมองใหม่ เสนอภาพของพระสนมฮีบินหรือจางอ๊กจองให้แตกต่างออกไปจาก ละครชุดทางโทรทัศน์เรื่อง ‘ทงอี จอมนางคู่บัลลังก์’ ในปี 2010 ทำให้สามารถมองพระราชประวัติของพระนางได้ในอีกมุมมองหนึ่ง กล่าวคือในมุมมองเดิมมองภาพลักษณ์ของพระนางว่าเป็นคนที่มีจิตใจชั่วร้าย กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยใจริษยา แต่ในมุมมองใหม่มีการอธิบายเหตุผลการกระทำของพระนางว่าทั้งหมดมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ความชั่วร้ายของพระนางไม่ได้หยั่งลึกอยู่ภายในจิตใจ

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf