บทบาทของขันทีในประวัติศาสตร์จีน

โดย นางสาวปิติพร รุ่งเรืองเวท บทคัดย่อ งานวิจัยเรื่องบทบาทของขันทีในประวัติศาสตร์จีนมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและความหมายของขันทีเพื่อนำมาวิเคราะห์บทบาททางการเมืองและสถานะของขันทีในราชสำนักโดยศึกษาจากชีวิตของขันทีในวังหลวงบทบาททางการเมืองรวมไปถึงอัตชีวประวัติของขันทีผู้มีชื่อเสียงตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิงซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของขันทีจนถึงยุคราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประวัติศาสตร์จีน จากการศึกษาพบว่าขันทีมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อประวัติศาสตร์และราชวงศ์ของจีนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง โดยหน้าที่หลักของขันทีคือดูแลความเรียบร้อยภายในวังหลวงรวมถึงเป็นผู้รับใช้ของจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ ในขณะที่การเข้ามาเป็นขันทีนั้นเกิดจากความต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่จำนวนขันทีที่มีมากทำให้ราชสำนักไม่อาจดูแลขันทีได้ ขันทีบางคนจึงมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่ขันทีส่วนใหญ่ (จินจุง) กลับมีชีวิตที่ยากลำบากไม่ค่อยมีบทบาทในราชสำนัก ดังนั้นเพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่สุขสบายขันทีบางคนจึงต้องการแสวงหาอำนาจเงินทองและบริวาร โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบ เช่น การเป็นที่ไว้วางใจของจักรพรรดิการเข้ามามีบทบาททางการเมืองในราชสำนักเพื่อที่เป็นหนทางหนึ่งในการแสวงหาอำนาจเพื่อความสุขสบายของตน ยกตัวอย่างขันทีคนสำคัญในราชสำนัก เช่น เจิ้งเหอ อันเต๋อไห่ หลี่เหลียนอิง เป็นต้น ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ความอยุติธรรมของสนธิสัญญานานกิง สนธิสัญญาเทียนจินและอนุสัญญาปักกิ่งในช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และ 2 ตั้งแต่ ค.ศ.1834-1860

โดย นางสาวนภัสสร ชมสุวรรณ บทคัดย่อ งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาบริบทที่นำไปสู่การทำสนธิสัญญานานกิง สนธิสัญญาเทียนจิน และอนุสัญญาปักกิ่ง รวมถึงเนื้อหาสาระและผลกระทบของสนธิสัญญานานกิง สนธิสัญญาเทียนจิน และอนุสัญญาปักกิ่งในช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และ 2 ตั้งแต่ ค.ศ.1834-1860 ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการศึกษาหาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ หนังสือ หรือนิตยสารในหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ นำมารวบรวมเพื่อศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาเป็นงานวิจัย ซึ่งจากการวิจัยพบว่า สนธิสัญญานานกิง สนธิสัญญาเทียนจิน และอนุสัญญาปักกิ่ง เป็นสนธิสัญญาอยุติธรรมต่อจีนเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านการค้าการลงทุนจีนที่ต้องเสียตลาดการค้าให้กับสินค้าตะวันตก ตะวันตกผูกขาดการขายสินค้าให้จีน การเสียดินแดนฮ่องกงให้เป็นเมืองท่าของอังกฤษ ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงินจำนวนมาก ต่างชาติเข้ามาตั้งสถานทูตในจีนได้ จีนสูญเสียเอกราชและกลายเป็นชาติกึ่งอาณานิคมของตะวันตก ชาติมหาอำนาจต่างเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากจีน โดยที่จีนไม่มีทางเลือกต้องยินยอมลงนามในสนธิสัญญานานกิง สนธิสัญญาเทียนจินและอนุสัญญาปักกิ่งแบบไม่เต็มใจ ชาวจีนถือว่าสนธิสัญญาเหล่านี้เป็นสนธิสัญญาอัปยศของชนชาติจีน การทำสนธิสัญญากับต่างชาตินำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการปกครอง ทั้งทางด้านบวกและลบของจีนมาจนถึงปัจจุบัน ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ปัญหาการปกครองของจิ๋นซีฮ่องเต้ในสมัยราชวงศ์ฉิน (221 – 206 ปีก่อนค.ศ.)

โดย นางสาวธีรวรรณ  ขอจุลซ้วน บทคัดย่อ ในยุคปลายสมัยชุนชิว สถานการณ์บ้านเมืองและสังคมกำลังวุ่นวาย เกิดการรบราฆ่าฟันกันตลอดเวลา ประชาชนเดือดร้อน ลำบากยากเข็ญ กษัตริย์ทุกแคว้นต่างแย่งชิงอำนาจครั้งยิ่งใหญ่ ไฟแห่งการปฎิวัติก็กำลังโชติช่วงขึ้น จนกระทั่งกษัตริย์องค์หนึ่งที่มีนามว่า “จิ๋นซีฮ่องเต้” ปรากฏตัวขึ้น ประวัติที่เป็นคุณของจิ๋นซีฮ่องเต้ รุ่งโรจน์เป็นอย่างยิ่ง พระนามของพระองค์ จึงบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์มิใช่แค่เฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น มิตรประเทศทั้งหลายในโลกที่ติดต่อสัมพันธ์กับจีนในช่วงเวลานั้นหลายต่อหลายประเทศ ก็เคยได้ยกเอาระเบียบแผนการปกครอง การปฏิบัติหลายอย่างหลายประการไปเป็นแบบอย่าง และนำแบบแผนการปกครองรูปแบบนี้ไปดัดแปลงแก้ไขให้สอดคล้องกับประเทศตนเอง แต่ในขณะเดียวกัน ความโหดร้ายทารุณที่พระองค์ได้กระทำไว้กับประชาชนและประเทศชาติก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทำให้พระนามของพระองค์นั้น ถูกกล่าวขานว่า เป็นกษัตริย์ที่เป็นทั้งมหาราชและทรราชในองค์เดียวกัน จากการศึกษา ผู้วิจัยพบว่าสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์จากยุคชุนชิว ยุคจ้านกว๋อ มาจนถึงการที่พระองค์สามารถผนวกดินแดนให้เป็นเอกภาพได้สำเร็จ ก็ถือเป็นตัวกำหนดชีวิตของจิ๋นซีฮ่องเต้เช่นกัน ทั้งนิสัยใจคอ ความคิด การใช้ชีวิต ที่สะท้อนออกมาผ่านการใช้อำนาจในการปกครองบ้านเมืองของพระองค์เอง ดาวน์โหลด บทความวิจัย

จากจุดเริ่มต้นถึงอวสานเส้นทางสายไหม

โดย นางสาวธดากรณ์ สุกิจจินดา บทคัดย่อ งานวิจัยเรื่องจากจุดเริ่มต้นถึงอวสานเส้นทางสายไหมมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเส้นทางสายไหมตั้งแต่ก่อนที่เส้นทางจะถูกเปิดใช้อย่างเป็นทางการในสมัยราชวงศ์ฮั่น (276ปีก่อนค.ศ. – ค.ศ. 227) ในช่วงที่เปิดใช้เส้นทางอย่างเป็นทางการจนถึงช่วงเสื่อมของเส้นทางสายไหมในราชวงศ์หมิง (ค.ศ.๑๔๐๕) จากความสามารถในการเดินเรือของชาวจีน นอกจากนี้ยังต้องการเพื่อศึกษาบทบาทความเป็นมาและความสำคัญของเส้นทางสายไหมด้านการค้าตลอดจนความรุ่งเรืองของเส้นทางสายไหมนับตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นจนถึงจุดอวสานของเส้นทางสายไหมในสมัยราชวงศ์หมิง จากการศึกษาพบว่าคำว่า “เส้นทางสายไหม” หรือ “Silk Road” เพิ่งถูกเรียกอย่างเป็นทางการในกลางศตวรรษที่ ๑๙ โดยช่างภาพชาวเยอรมันชื่อว่าดินันด์ฟอนริชท์โฮเฟิน (Ferdinand von Richthofen) เนื่องจากมีการขนส่งผ้าไหมหรือใยไหมผ่านเส้นทางสายนี้แต่สินค้าที่ขนส่งผ่านเส้นทางนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ผ้าไหมหรือใยไหมเท่านั้นยังมีสินค้าอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ แก้วเพชรพลอยเครื่องเงินเครื่องเคลือบดินเผาเครื่องโลหะพรมไข่มุกงาช้างเหรียญเงินเหรียญทองรวมทั้งพืชผลจากตะวันตกเส้นทางสายนี้ใช้เป็นทางผ่านทั้งของพ่อค้าชาวจีนและพ่อค้าชาวตะวันตกความคึกคักของการใช้เส้นทางจะขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของแต่ละราชวงศ์เพราะจักรพรรดิแต่ละองค์มีแนวทางการปกครองประเทศที่แตกต่างกันโดยสาเหตุของความเสื่อมนั้นมีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การสร้างภาพลักษณ์ของคิมจองอิล ค.ศ. 1980 – 2011

โดย นางสาวเสาวภาคย์ หาญสุวรรณกุล บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อศึกษาประวัติคิมจองอิล และวิธีการสร้างภาพลักษณ์ของคิมจองอิล ที่ทำให้ประชาชนเกิดความศรัทธา จากผลการศึกษาพบว่าคิมจองอิลได้รับตำแหน่งผู้นำเกาหลีเหนือมาจากคิมอิลซองผู้เป็นพ่อ เขาปกครองเกาหลีเหนือด้วยความเผด็จการ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของเกาหลีเหนือมีความศรัทธาในตัวคิม-จองอิล เพราะเขามีวิธีการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตนเอง เริ่มตั้งแต่การสร้างประวัติการเกิดของตนเองขึ้นมาใหม่ การสร้างโฆษณาชวนเชื่อ เช่น ภาพวาดป้ายโฆษณาชวนเชื่อ บทกวีเชิดชูคิมจองอิล การลักพาตัวผู้นำเกาหลีใต้มาสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเชิดชูผู้นำ การลักพาตัวชาวต่างชาติ มาสอนสายลับเกาหลีเหนือ เพื่อปลอมตัวเป็นคนต่างประเทศทำหน้าที่ล้วงข้อมูลและสร้างสถานการณ์ในประเทศคู่อริ เพื่อลดความน่าเชื่อถือต่อประเทศนั้นๆ เป็นการให้ภาพด้านลบ รวมทั้งเมื่อคิมจองอิลถึงแก่อสัญกรรม ทางการเกาหลีเหนือได้เก็บงำความลับเรื่องการถึงแก่อสัญกรรมของคิมจองอิลไว้เป็นอย่างดี ก่อนจะออกมาในภายหลังว่า คิมจองอิลถึงแก่อสัญกรรมจากการไปตรวจเยี่ยมประชาชนนอกเมืองเปียงยาง ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้คิมจองอิลเป็นผู้นำที่ดี มีความห่วงใยประชาชนจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ขบวนการทงฮัก ค.ศ. 1860 -1895

โดย นางสาววิไลลักษณ์ จุ้ยชุ่ม บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อศึกษาแนวคิดและปัจจัยการก่อตัวขึ้นของขบวนการทงฮักตั้งแต่ปี 1860-1895 จากผลการศึกษาพบว่าขบวนการทงฮักนั้นเกิดขึ้นมาจากกลุ่มคนที่มีความนับถือในลัทธิ   ทงฮักซึ่งเป็นลัทธิที่ว่าด้วยความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในสังคมจึงทำให้ลัทธิทงฮักเป็นที่นิยมในหมู่ชาวนาที่ถูกกดขี่และไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมทำให้เกิดการรวมตัวขึ้นก่อการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยมีสาเหตุมาจากทั้งความวุ่นวายภายในประเทศ ความบกพร่องของคำสอนทางศาสนาดั้งเดิมที่ไม่สามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนได้อีกต่อไป อำนาจเศรษฐกิจที่ไม่กระจายตัวชาวนายังคงต้องประสบกับความยากจนในขณะที่พ่อค้ามีฐานะที่มั่งคั่งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการที่ชาวนาถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากขุนนางทุจริตที่หวังตักตวงผลประโยชน์อย่างไร้ซึ่งความยุติธรรม อีกทั้งการถูกชนชาติญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงอำนาจในการบริหารงานประเทศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการทงฮักอีกด้วย ดาวน์โหลด บทความวิจัย

กลุ่มชาตินิยมในเกาหลีช่วงการยึดครองของญี่ปุ่น ค.ศ. 1910-1945

โดย นางสาววราภรณ์ เนาวแสงศรี บทคัดย่อ การศึกษาเรื่อง “กลุ่มชาตินิยมในเกาหลีช่วงการยึดครองของญี่ปุ่น ค.ศ. 1910-1945” มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาสภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศเกาหลีในช่วงการยึดครองของญี่ปุ่น และเพื่อศึกษากลุ่มชาตินิยมเกาหลีที่เกิดขึ้นในช่วงภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ผลจากการศึกษาพบว่า การที่เกาหลีตกเป็นประเทศอาณานิคมของญี่ปุ่นนั้น ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงเกาหลีในทุกด้าน เช่น ทางด้านการเมือง รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งกระทรวง 5 กระทรวง คือ กระทรวงกิจการทั่วไป กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และกระทรวงยุติธรรม ทางด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลญี่ปุ่นบังคับให้ชาวเกาหลีต้องเสียภาษีในระบบเงินตรา และทางด้านสังคม มีการบีบบังคับให้ชาวเกาหลีเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น การกระทำดังกล่าวล้วนแล้วแต่ทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายกลืนวัฒนธรรม (Cultural Assimilation) การดำเนินการของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเหตุให้ชาวเกาหลีทนรับสถานการณ์ที่บีบบังคับไม่ได้ จึงก่อให้กลุ่มชาตินิยมขึ้นทั้งในและนอกประเทศ เพื่อที่จะต้องการเรียกร้องสิทธิ และเสรีภาพให้กับประเทศของตน เช่น กลุ่มทงฮัก สมาคมอิสรภาพ เป็นต้น ดาวน์โหลด บทความวิจัย

แทวอนกุน เบื้องหลังราชบัลลังก์โชซอน (ค.ศ.1820 – 1898)

โดย นางสาวนารีรัตน์ พู่กลั่น บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ เพื่อศึกษาประวัติของฮึงซอนแทวอนกุน บทบาททางการเมืองและปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการเข้ามามีอำนาจตลอดจนการสิ้นสุดอำนาจของแทวอนกุน จากผลการศึกษาพบว่าแทวอนกุนเป็นผู้ปกครองที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาการแบ่งฝักแบ่งแบ่งฝ่ายในราชสำนัก และปัญหาการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงของขุนนาง ในส่วนของการเสื่อมอำนาจของแทวอนกุนนั้น เกิดจากความขัดแย้งทางความคิดและอิทธิพลทางการเมืองของพระมเหสีมินและกลุ่มหัวก้าวหน้าในราชสำนักและนอกจากนี้ยังเกิดจากความขัดแย้งกับต่างชาติที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลในเกาหลีจึงเป็นเหตุทำให้แทวอนกุนต้องยุติบทบาททางการเมืองลง ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ซ่งชิงหลิง สตรีผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์

โดย นางสาวสลิลญา สุชาตะนันทน์ บทคัดย่อ บทความวิชาการเรื่องซ่งชิงหลิง สตรีผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติและภูมิหลังของนางซ่งชิงหลิงศึกษาบทบาทด้านการเมืองการปกครองของนางซ่งชิงหลิง รวมทั้งศึกษาความคิดเบื้องหลังและแรงผลักดันที่ทำให้นางซ่งชิงหลิง เกิดความศรัทธาในอุดมการณ์ของดร.ซุนยัดเซ็น  บทความวิชาการนี้ศึกษาด้วยการรวบรวมโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ ศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งในรูปแบบหนังสือ บทความทางวิชาการ ภาพยนตร์ และรวบรวมข้อมูลทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ผลการศึกษาพบว่าการที่นางซ่งชิงหลิง สนใจในเรื่องของการเมืองการปกครองนั้น เป็นเพราะนางได้อิทธิพลมาจากครอบครัว และจากการที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศยิ่งทำให้นางเป็นผู้ที่มี ความคิดก้าวไกล ทันสมัยเชื่อมั่นในตนเองและมีความรักชาติและต้องการที่จะพัฒนาประเทศของตนให้มีความก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง ตามแบบตะวันตก และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญนอกจากนี้การที่นางได้สมรสกับดร.ซุนยัดเซ็น  ก็ยิ่งผลักดัน ให้อุดมการณ์รักชาติของนางมีมากขึ้น เพราะนางและดร.ซุนยัดเซ็นมีอุดมการณ์เดียวกัน มีความเข้าใจซึ่งกันและกันมีเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาประเทศเหมือนกัน และการศึกษาเรื่องนี้ยังทำให้ทราบการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองของประเทศจีนในช่วงที่เปลี่ยนจากระบอบศักดินาเป็นระบอบสาธารณรัฐผ่านมุมมองของสตรี อีกทั้งทราบถึงยังแนวคิด  ทัศนคติของสตรีที่เป็นผู้นำ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

สยามอั้งยี่ : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของชาวจีนอพยพ

โดย นายธนยศ วุฒิปราโมทย์ บทคัดย่อ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแง่มุมหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมชาวจีนอพยพในยุคสมัยรัตนโกสินทร์มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่2 สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดชาวจีนอพยพในไทย การก่อร่างสร้างตัวของขบวนการอั้งยี่ในสังคมไทย รวมถึงรูปแบบการปกครองระหว่างกันของอั้งยี่ การประพฤติปฏิบัติระหว่างที่ได้เข้ามาอาศัยในประเทศไทย จนกลายเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องแก้ไขปราบปราม ดำเนินการศึกษาโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ ศึกษา วิเคราะห์จากเอกสารชั้นต้นและชั้นรอง ผลการศึกษาสรุปได้ว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ชาวจีนได้อพยพเข้ามาในประเทศไทย การกระทำของชาวจีนอพยพในด้านดีคือได้เข้ามาเป็นแรงงานให้กับรัฐบาลไทยในการทำนุบำรุง ซ่อมแซมเมืองจากภาวะสงคราม และได้มีพวกชาวจีนที่เก่งทางด้านการ ค้าขายเข้ามาช่วยรัฐบาลไทยในการค้าระหว่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศและยังได้บ่มเพาะรุ่นลูกรุ่นหลานให้สานต่อธุรกิจที่ชาวจีนอพยพได้สร้างไว้เช่น กงสี  ส่วนพวกชาวจีนอพยพที่ได้สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลไทยเช่น แอบลักลอบค้าฝิ่น และดำเนินวิถีการเป็นสมาคมลับที่ผิดไปจากเดิมจนกลายเป็นปัญหาใหญ่สร้างความวุ่นวายให้กับสังคมไทยและรัฐบาล โดยการลักลอบค้าฝิ่นจนเกิดการแย่งชิงผลประโยชน์กัน มีการทะเลาะวิวาทกันหลายครั้งทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปมากในการนำกำลังเข้าปราบปรามเพราะความเห็นแก่ตัว โดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่น อย่างไรก็ตาม กลุ่มอั้งยี่เป็นชาวจีนกลุ่มน้อยที่ก่อความเดือดร้อน ขณะที่ชาวจีนอพยพส่วนใหญ่ได้สร้างคุณความดีไว้มากกว่า ดาวน์โหลด บทความวิจัย

บทบาทของจีนและอังกฤษในการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันเรื่องการคืนเกาะฮ่องกง

โดย นางสาวสุพิชชา จียาศักดิ์ บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่องบทบาทของจีนและอังกฤษในการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันเรื่องการคืนเกาะฮ่องกง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมา สาเหตุ และผลกระทบของการที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ รวมทั้งปัญหาและบทบาทของประเทศจีนและประเทศอังกฤษในการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันเรื่องฮ่องกง ผลการศึกษาพบว่าฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษจากสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างจีนกับอังกฤษเนื่องจากจีนแพ้สงครามให้กับอังกฤษ และเมื่ออังกฤษครอบครองฮ่องกง ส่งผลให้ฮ่องกงพัฒนามากถึงขั้นเป็นศูนย์กลางทางการค้า และเศรษฐกิจเติบโตเป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เมื่อครบสัญญาเช่าระยะเวลา 99 ปี อังกฤษยังคงพยายามที่จะให้ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของตนเอง แต่ไม่สามารถคงอำนาจอธิปไตยไว้ได้ เนื่องจากผลจากสนธิสัญญาในอดีตนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน ทำให้จีนได้อำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงกลับไปดังเดิม ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ปัญหาการรวมชาติเกาหลี ค.ศ. 1970 – 2013

โดย นางสาวศากุน ผลผลา บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ เพื่อศึกษาสาเหตุที่ทำให้ประเทศเกาหลีถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และศึกษาปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมชาติของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ จากการศึกษาพบว่าประเทศเกาหลีถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยชาติตะวันตกซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน คือสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา โดยสหภาพโซเวียตดูแลพื้นที่ด้านเหนือ ส่วนสหรัฐอเมริกาดูแลพื้นที่ด้านใต้ ประเทศเกาหลีทั้งสองจึงรับอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน เกาหลีเหนือปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ส่วนเกาหลีใต้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการกลับมารวมชาติของเกาหลีคือความแตกต่างด้านความเป็นอยู่และความคิดของประชาชนทั้งสองฝ่ายซึ่งถูกแยกจากกันมานานกว่าห้าสิบปี รวมถึงสภาวะปัญหาความมั่นคงของเกาหลีเหนือที่มุ่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่ลดละ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันตนเอง เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และนานาชาติตึงเครียด ดาวน์โหลด บทความวิจัย

จางอ๊กจอง จากนางในสู่ตำแหน่งพระมเหสีแห่งอาณาจักรโชซอน : ศึกษาจากละครชุดเรื่องจางอ๊กจองและทงอี จอมนางคู่บัลลังก์

โดย นางสาวพิไลวรรณ มรรคไชยสถาพร บทคัดย่อ การศึกษาเรื่อง “จางอ๊กจอง จากนางในสู่ตำแหน่งพระมเหสีแห่งอาณาจักรโชซอน : ศึกษาจากละครชุดเรื่องจางอ๊กจองและทงอี จอมนางคู่บัลลังก์” มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาพระราชประวัติของจางอ๊กจองหรือพระสนมฮีบินซึ่งเดิมเป็นบุคคลในชนชั้นทาส ก่อนจะเข้ามาเป็นนางในในวังหลวง และได้สถาปนาขึ้นเป็นพระสนมและพระมเหสีในพระเจ้าซุกจง องค์จักรพรรดิลำดับที่ 19 และเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าคยองจง องค์จักรพรรดิลำดับที่ 19 แห่งราชวงศ์โชซอน ที่นำมาเผยแพร่ในรูปแบบละครชุดทางโทรทัศน์ ผลจากการศึกษาพบว่าการนำพระราชประวัติจางอ๊กจองหรือพระสนมฮีบินมาทำเป็นละครชุดทางโทรทัศน์ทั้งสองเรื่องมีความสอดคล้องทางบันทึกประวัติศาสตร์และความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ควบคู่กัน และสาเหตุของความแตกต่างคือบริบทในละครชุดทางโทรทัศน์ทั้งสองเรื่องของพระนางจางอ๊กจองถูกปรับเปลี่ยนให้เอื้อต่อตัวละครหลักของเรื่อง กล่าวได้ว่าการทำละครชุดทางโทรทัศน์ออกมานั้นต้องสอดคล้องกับยุคสมัยเพื่อทำให้ผู้ชมสนใจที่จะรับชม การทำละครให้มีเนื้อหาเช่นเดิมซ้ำๆ หลายเรื่อง นำเสนอแง่มุมด้านเดิมๆ ออกมาจึงไม่เป็นที่สนใจ ทางผู้จัดทำละครชุดทางโทรทัศน์เรื่อง ‘จางอ๊กจอง’ ในปี 2013 จึงเสนอในมุมมองใหม่ เสนอภาพของพระสนมฮีบินหรือจางอ๊กจองให้แตกต่างออกไปจาก ละครชุดทางโทรทัศน์เรื่อง ‘ทงอี จอมนางคู่บัลลังก์’ ในปี 2010 ทำให้สามารถมองพระราชประวัติของพระนางได้ในอีกมุมมองหนึ่ง กล่าวคือในมุมมองเดิมมองภาพลักษณ์ของพระนางว่าเป็นคนที่มีจิตใจชั่วร้าย กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยใจริษยา แต่ในมุมมองใหม่มีการอธิบายเหตุผลการกระทำของพระนางว่าทั้งหมดมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ความชั่วร้ายของพระนางไม่ได้หยั่งลึกอยู่ภายในจิตใจ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

Comfort Women ผู้หญิงบำเรอกามชาวเกาหลี (ค.ศ.1932-1945)

โดย นางสาวดลพร วงษ์หาแก้ว บทคัดย่อ บทความวิชาการเรื่อง Comfort Womenผู้หญิงบำเรอกามชาวเกาหลี (ค.ศ.1932-1945) มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อทราบประวัติความเป็นมาของผู้หญิงบำเรอกามชาวเกาหลี และเพื่อศึกษาสภาพผู้หญิงบำเรอกามชาวเกาหลี ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ระหว่างปี 1932 -1945 ผลการศึกษาพบว่าประวัติความเป็นมาของผู้หญิงบำเรอกามชาวเกาหลีนั้น เริ่มต้นในช่วงที่เกาหลีอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของญี่ปุ่น มีศูนย์ปลอบขวัญเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบโดยมีรัฐบาลเข้ามาดูแลครั้งแรกที่เมือง เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในปี 1932 ซึ่งเป็นช่วงการทำสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น โดยทางรัฐบาลและกองทัพญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า เพื่อป้องกันการข่มขืนและลักพาตัวผู้หญิงท้องถิ่นที่กองทัพญี่ปุ่นไปรุกราน นอกจากจะมีศูนย์ปลอบขวัญที่ทางรัฐบาลและกองทัพญี่ปุ่นสร้างขึ้นเองแล้ว ยังมีศูนย์ปลอบขวัญท้องถิ่นที่เอาไว้ใช้รองรับทหารญี่ปุ่นโดยตรงอีกด้วย ผู้หญิงที่มาเป็นผู้หญิงบำเรอกามนั้น ส่วนใหญ่ถูกบังคับ ข่มขู่ หรือลักพาตัวเพื่อนำมาเป็นทาสทางอารมณ์ของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบและถูกนำตัวมาเป็นผู้หญิงบำเรอกามมากที่สุดคือ ผู้หญิงเกาหลี ซึ่งสภาพของผู้หญิงบำเรอกามในปี 1932 – 1945 นั้น มีหน้าที่ช่วยปรนเปรอและเป็นที่ปลดปล่อย ระบายความต้องการทางเพศของทหารญี่ปุ่นที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำสงครามเท่านั้น สตรีเหล่านั้นต้องถูกทหารญี่ปุ่นเข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 30 ครั้งต่อวัน แทบจะไม่มีเวลาได้พัก อีกทั้งยังต้องพบเจอกับกามโรคนานาชนิด ความประพฤติเช่นนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงการทำร้ายทางเพศภายใต้ความคิดที่ว่าผู้ชายเป็นใหญ่และผู้หญิงเป็นเพศที่ด้อยกว่า ดาวน์โหลด บทความวิจัย

นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีตั้งแต่หลังการปกครองของญี่ปุ่น ค.ศ. 1946 ถึงทศวรรษ 1990

โดย นางสาวณัฐกร สอนสอาด บทคัดย่อ บทความวิชาการเรื่อง นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีตั้งแต่หลังการปกครองของญี่ปุ่น ค.ศ. 1946 ถึงทศวรรษ 1990 มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษานโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผลการศึกษาพบว่านโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของรัฐบาลที่ปกครองในช่วงนั้น โดยรัฐบาลเริ่มเข้าไปช่วยเหลืออุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างจริงจังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในช่วงนั้นเป็นการปกครองโดยรัฐบาล อีซึงมัน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับวงการภาพยนตร์ เพราะรัฐบาลได้ออกนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยการยกเว้นภาษีแก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ต่อมาในสมัยรัฐบาลปาร์ค จุงฮี อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ซบเซาลง เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายควบคุมและตรวจสอบภาพยนตร์อย่างเข้มงวด โดยห้ามมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองอย่างเด็ดขาด ภายหลังรัฐบาลปาร์ค จุงฮีสิ้นสุดลง อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีเริ่มมีอิสระมากขึ้น มีการเข้ามาของภาพยนตร์ต่างประเทศจำนวนมาก จนทำให้วงการภาพยนตร์เกาหลีเกือบจะต้องปิดตัวลง รัฐบาลคิม    แดจุง จึงได้ออกกฎหมาย ยกเลิกการตรวจสอบภาพยนตร์ และให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อีกทั้งยังมีการจัดตั้งองค์กรต่างๆเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฟื้นตัวขึ้นมาและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ปัจจัยที่ทำให้สาธารณรัฐเกาหลีฟื้นตัวหลังสงครามเกาหลี ตั้งแต่ ค.ศ. 1953 – 1997

โดย นางสาวฐิฌาภรณ์ อินทรักษ์ บทคัดย่อ บทความวิชาการเรื่องปัจจัยที่ทำให้สาธารณรัฐเกาหลีฟื้นตัวหลังสงครามเกาหลี ตั้งแต่ ค.ศ. 1953 – 1997 มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อศึกษาปัจจัยภายใน และภายนอกที่ทำให้สาธารณรัฐเกาหลีฟื้นตัวช่วงหลังสงครามเกาหลีตั้งแต่ ค.ศ. 1953 – 1997 ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยภายในที่มีส่วนช่วยให้สาธารณรัฐเกาหลีฟื้นตัวช่วงหลังสงครามเกาหลี มีด้วยกัน 2 ประการคือนโยบายของรัฐบาล และอุปนิสัยประจำชาติ นโยบายของรัฐบาลมีส่วนช่วยฟื้นฟูประเทศเป็นอย่างมาก เพราะเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ โดยเริ่มแรกของการพัฒนาประเทศนั้นคือมีการสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังมีการออกนโยบายเพื่อกำหนดจุดมุ่งหมายของการพัฒนาให้ชัดเจน ส่วนอุปนิสัยประจำชาติที่มีส่วนช่วยให้เกาหลีฟื้นตัวมาจากคนเกาหลีมีความขยัน ความเป็นหนึ่งเดียวกันพร้อมทำงานหนักเพื่อพัฒนาประเทศของตนเอง ปัจจัยภายนอกที่มีส่วนช่วยให้สาธารณรัฐเกาหลีฟื้นตัวช่วงหลังสงครามเกาหลีคือ ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มิตรประเทศที่คอยสนับสนุนการพัฒนาต่างๆด้วยการส่งเงิน และทรัพยากรที่จำเป็นมาช่วย อีกทั้งยังส่งนักวิชาการมาช่วยคนเกาหลีเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การถ่ายทอดอำนาจของตระกูลคิม (ค.ศ. 1948-2011)

โดย นางสาวกมลชนก ศรีเนตร บทคัดย่อ บทความเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ ศึกษาประวัติผู้นำเกาหลีเหนือ ตั้งแต่สมัยคิม อิลซองถึงคิม จองอึน และการถ่ายทอดอำนาจของผู้นำเกาหลีเหนือ จากการศึกษาพบว่า ประเทศเกาหลีเหนือปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ มีอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่กลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียว คือ ตระกูลคิม ทำให้เกาหลีเหนือถูกมองว่าถูกปกครองในระบอบคิม โดยเริ่มจากคิม อิลซอง ผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนือที่ตระหนักถึงความไม่แน่นอนของอำนาจทางการเมืองจึงใช้วิธีการถ่ายทอดอำนาจเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบอบและตนเอง จำแนกได้ 2 ประการ คือ 1) การสร้างฐานอำนาจทางการเมือง โดยให้บุคคลที่ภักดีและมีความสามารถดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง 2) การกำหนดทายาททางการเมือง โดยเจาะจงบุคคลที่มาจากตระกูลเดียวกันและมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดคนต่อไปของประเทศ นอกจากนี้ยังใช้สื่อต่างๆในการสร้างภาพลักษณ์ของผู้นำให้ประชาชนจงรักภักดีและเทิดทูนในตัวผู้นำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบอบการปกครองของตระกูลคิมไม่ล่มสลายไป ดาวน์โหลด บทความวิจัย