การศึกษารูปแบบอาหารและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการก่อเกิดอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดย  นางสาวศราวดี มนูเสวต

บทคัดย่อ

ในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา  1) รูปแบบของอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์  2) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการก่อเกิดอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์  และ 3) ความสัมพันธ์ของอาหารกับวัฒนธรรมอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากงานเอกสาร เว็บไซต์ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบของอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ศึกษาในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มีรูปแบบของอาหารขาวที่ทำมาจากนมและเนย อาหารแดงที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ และอาหารที่ทำมาจากข้าวและแป้ง ในเขตปกครองตนเองทิเบตมีรูปแบบของอาหารประเภทนมและเนย อาหารประเภทเนื้อสัตว์ และอาหารประเภทข้าวและแป้ง และในพื้นที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีรูปแบบของอาหารเป็นอาหารวันธรรมดา อาหารในช่วงเทศกาล และอาหารพิเศษซึ่งแตกต่างจาก 2 ชาติพันธุ์

สำหรับปัจจัยทางด้านกายภาพที่มีความสัมพันธ์ต่อการก่อเกิดอาหารในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ที่ตั้ง ภูมิประเทศ แหล่งน้ำ ภูมิอากาศ และพืชพรรณธรรมชาติ ส่วนปัจจัยทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อรูปแบบอาหาร คือ กลุ่มชาติพันธุ์ ความเชื่อ และประเพณีและวัฒนธรรม โดยเขตปกครองตนเองมองโกเลียในอยู่ทางตอนเหนือ มีภูมิอากาศแบบแห้งแล้งหรือเขตทุ่งหญ้าสเตปป์ ทำให้มีการเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก อาหารส่วนใหญ่จึงมาจากการแปรรูปสัตว์ ด้านสังคมและวัฒนธรรมชาวมองโกลเป็นกลุ่มเร่ร่อน มีการย้ายถิ่นเสมอ ทำให้รูปแบบของอาหารจะมีกรรมวิธีในการทำที่ไม่ยุ่งยาก ส่วนพื้นที่เขตปกครองตนเองทิเบตอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ มีอากาศหนาวเย็น วัตถุดิบที่ใช้นำมาแปรรูปอาหารจึงมีไม่มาก ส่งผลให้เน้นรับประทานอาหารประเภทนมเนย อาหารจากข้าวและแป้ง เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย  ในด้านสังคมและวัฒนธรรมนั้นมีความเชื่อในเรื่องของศาสนา คือ การไม่รับประทานปลา และไม่ฆ่าสัตว์เล็ก ส่งผลให้รูปแบบอาหารมีข้อจำกัด และพื้นที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงอยู่ทางตอนใต้ สภาพอากาศร้อน มีแหล่งน้ำล้อมรอบ ส่งผลให้ชาวจ้วงสามารถเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำประมง ส่งผลให้อาหารมีความหลากหลาย ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ชาวจ้วงชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ชอบงานรื่นเริง และมีวัตถุดิบในการประกอบอาหารมาก ส่งผลให้รูปแบบของอาหารมีความหลากหลาย นอกจากนี้ชาวจ้วงยังให้ความสำคัญกับคนในครอบครัว ส่งผลให้มีข้อปฏิบัติในเรื่องของอาหารที่ใช้ในการรับประทานมากกว่ากลุ่มอื่น

สำหรับความสัมพันธ์ของอาหารกับวัฒนธรรมอาหาร พบว่า มีผลกับรูปแบบอาหาร เห็นได้จากเทศกาลที่เกี่ยวข้องในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกลุ่มชาติพันธุ์มองโกล คือ เทศกาลปีใหม่ และเทศกาลนาดาม กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต คือ เทศกาลปีใหม่ และเทศกาลโยเกิร์ต และกลุ่มชาติพันธุ์จ้วงมีมากที่สุด คือ เทศกาลปีใหม่ เทศกาลวันหยวนเชียว เทศกาลวันชิงหมิง เทศกาลเพลง 3 ค่ำ เดือน 3 เทศกาลตวนอู่ เทศกาลจงชิว และเทศกาลวันดับของชาวจ้วง ทั้งนี้เทศกาลปีใหม่ของทั้ง 3 กลุ่มชาติพันธุ์ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับรูปแบบอาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เนื่องจากเป็นเทศกาลที่ชาวจีนทุกเชื้อชาติ ที่อาศัยอยู่ในต่างภูมิลำเนา จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมของตน เพื่อพบปะคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน และคนรู้จัก ในเทศกาลนี้จะมีการทำอาหาร และรับประทานอาหารพร้อมหน้ากัน

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf