การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารในภูมิภาคฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น

โดย  นางสาวอรจิรา เตียงเกตุ บทคัดย่อ การท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นที่เติบโตขึ้นปัจจัยหนึ่งนั้นคืออาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมในปัจจุบันสูงขึ้นโดยเฉพาะยุคที่เปลี่ยนแปลงไปคนสนใจในเรื่องอาหารการกินให้ความสำคัญในอาหารจึงสนใจในการทานอาหารของแหล่งพื้นที่ต่างๆที่แตกต่างจากท้องถิ่นของตนการได้สัมผัสถึงที่มาของอาหารและสิ่งเหล่านี้เกิดการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมผ่านอาหารเหล่านั้นอีกด้วย  ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาถึงนโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารของฮอกไกโดและปัจจัยของความสำคัญของอาหารในพื้นที่ ผลการศึกษาพบว่า ภูมิภาคฮอกไกโดเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ทางการเกษตรที่เหมาะสมในการเลี้ยงวัวปลูก พืชผลต่างๆมีผลผลิตทุกปี วัวที่นี่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีและสิ่งแวดล้อมที่ดีทำให้วัวมีสุขภาพดีส่งผลดีต่อเนื้อของวัว วัวนมเองนั้นก็มีน้ำนมที่คุณภาพดีและด้วยวิทยาการก้าวหน้าในปัจจุบันและความคิดที่ไม่เหมือนใครของคนญี่ปุ่นมีเมนูแปลกเพิ่มขึ้น เกิดความน่าสนใจและยิ่งมีรสชาติที่อร่อยจึงทำให้คนสนใจในอาหารและขนมจากฮอกไกโดมากยิ่งขึ้น ฮอกไกโดจึงไม่ใช่เพียงแค่เมืองที่มีธรรมชาติดีหิมะดังเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปจึงสามารถจัดโปรแกรมท่องเที่ยวชิมอาหารที่ทานเนื้อวัววากิวชื่อดัง ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ได้มาจากนมวัว ประกอบด้วยนม ชีส ไอศกรีม ขนมหวานต่างๆที่ขึ้นชื่อของฮอกไกโดและเมล่อนได้ โดยมีเวลาในโปรแกรมนี้ 7 วัน ส่วนสำหรับเส้นทางชีสโดยเฉพาะนี้ ใช้เวลา 5 วัน ทั้งนี้ยังได้ไปหลายเมืองของ ฮอกไกโดอีกด้วย โดยช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารนี้  คือ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ดาวน์โหลด บทความวิจัย

บทบาทธุรกิจที่พักแบบเรียวกังต่อการท่องเที่ยวญี่ปุ่น

โดย  นางสาวสุนิตา ปัถวีเสถียร บทคัดย่อ สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทธุรกิจที่พักแบบเรียวกังต่อการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งในปัจจุบันที่พักแบบเรียวกัง ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับต้องการของผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับพัฒนาการและการกระจายตัวของที่พักแบบเรียวกังในประเทศญี่ปุ่น ศึกษารูปแบบของที่พักแบบเรียวกังในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของที่พักแบบเรียวกัง โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในรูปแบบของทุติยภูมิจากหนังสือ บทความ ข่าว สถิติ รายงาน ทั้งจากหอสมุดของหน่วยราชการและสถาบันต่าง ๆในการวิจัยโดยนำเสนอในรูปแบบของการบรรยาย อธิบาย และตาราง เป็นต้น ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของที่พักแบบเรียวกังที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันโดยได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยทางด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น โดยในปัจจุบันการท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้เติบโตมากขึ้น เนื่องจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นจึงส่งผลให้ต้องขยายธุรกิจที่พักแบบเรียวกัง เพื่อให้พอกับความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้นในปัจจุบันและตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เน้นการพักผ่อนอย่างเรียบง่าย และสะดวกสบาย อย่างเช่น ที่พักแบบเรียวกัง เพราะ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปพร้อมกับการพักผ่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีเช่นกัน รวมทั้งปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็ส่งผลต่อการขยายตัวของที่พักแบบเรียวกังเช่นกัน จากการวิจัยในครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าควรมีการศึกษาการพัฒนารูปแบบและแนวโน้มการขยายตัวในอนาคตของที่พักแบบเรียวกัง เนื่องจากในปัจจุบันที่พักแบบเรียวกังมีการพัฒนาหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งควรมีการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของที่พักแบบเรียวกังในประเทศอื่น ๆ เช่น ในประเทศไทย ประเทศอเมริกา เป็นต้น เพราะในปัจจุบันที่พักแบบเรียวกังได้แพร่หลายในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองไทเป ไต้หวัน ตามเส้นทางรถไฟฟ้า MRT

โดย  นางสาวสิริกาญจณ์ วัจนเทพินทร์ บทคัดย่อ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองไทเป ไต้หวัน ตามเส้นทางรถไฟฟ้า MRT มีจุดมุ่งหมายในการศึกษา เพื่อศึกษาทรัพยาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเมืองไทเป ไต้หวัน ผ่านเส้นทางรถไฟฟ้า MRT และศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในไทเป ไต้หวัน รวมถึงศึกษาบทบาทและความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในไทเป ไต้หวันอีกด้วย การศึกษาในครั้งนี้ใช้ข้อมูลปฐมภูมิ ที่ได้จากการลงพื้นที่สำรวจเมืองไทเปของผู้วิจัย และข้อมูลทุติยภูมิ ที่ได้จากหนังสือ แผนที่ รายการนำเที่ยว และเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อออนไลน์ เพื่อวิเคราะห์แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ปรากฏในเมืองไทเป ตามเส้นทางรถไฟฟ้า MRT ปัจจัยส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงบทบาทและความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผลการศึกษาพบว่า ในเมืองไทเปมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั้งหมด 24 แหล่งสำรวจผ่านเส้นทางรถไฟฟ้า MRT จำแนกได้ 5 ประเภท คือ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านศิลปกรรม จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้านประวัติศาสตร์ ด้านอาหาร และด้านศาสนาและความเชื่อ โดยปัจจัยหลักในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ประกอบไปด้วย ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ที่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยว มีภูมิอากาศที่ดี และปัจจัยด้านวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนและญี่ปุ่นอย่างลงตัว นอกจากนี้ การท่องเที่ยวทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามา ค่า … Read more

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามเทศกาลของประเทศญี่ปุ่น

โดย  นางสาวศรัณยา ยุทธสมภพ บทคัดย่อ ในปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก เทศกาลต่างๆ เป็นสิ่งดึงดูดความน่าสนใจแก่นักท่องเที่ยว ในการศึกษาครั้งนี้จึงได้ทำการศึกษาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามเทศกาลของประเทศญี่ปุ่นโดยศึกษาถึงนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น แหล่งท่องเที่ยว และรูปแบบกิจกรรมต่างๆ รวมถึงยังได้ทำการเปรียบเทียบรูปแบบกิจกรรมของเทศกาลไทยและญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้ทำการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่มาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลลอยกระทงของไทย ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า การดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นนั้นถือได้ว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการเผยแพร่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นไปสู่สายตาชาวโลกนั้นทำให้นักท่องเที่ยวต่างมีความสนใจและอยากเดินทางมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกปี ในส่วนของการจัดรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ของญี่ปุ่นนั้นก็มีความน่าสนใจ โดยการจัดเทศกาลต่างๆ ขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของญี่ปุ่น เทศกาลสามารถแบ่งเป็น เทศกาลตามความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และเทศกาลตามธรรมชาติ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรูปแบบและกิจกรรมต่างๆ ของเทศกาลไทยนั้น ได้พบว่าเทศกาลไทยจะเน้นการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมมากกว่าญี่ปุ่น นอกจากนี้การศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่มาร่วมงานเทศกาลลอยกระทง พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางมาเพื่ออยากสัมผัสประเพณี วัฒนธรรมไทย และอยากมาเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ดังนั้นการวางแผนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับเทศกาลในไทยจึงทำให้เทศกาลของไทยเป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติมากยิ่งขึ้น โดยการกำหนดนโยบายและการทำการประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวที่ไทยและทำให้เป็นที่รู้จักแก่สายตาชาวโลก ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การท่องเที่ยวเชิงนันทนาการของประเทศญี่ปุ่น

โดย  นางสาววรกานต์ รถมณี บทคัดย่อ ในปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงนันทนาการกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก แหล่งท่องเที่ยวเชิงนันทนาการต่างๆนั้นล้วนมีเอกลักษณ์และกิจกรรมต่างๆที่เป็นเครื่องดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ในการศึกษาครั้งนี้จึงได้ทำการศึกษาการท่องเที่ยวเชิงนันทนาการของประเทศญี่ปุ่นโดยศึกษาการท่องเที่ยวเชิงนันทนาที่สำคัญและศึกษากิจกรรมต่างๆ รวมทั้งความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่สอดแทรกอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แหล่งท่องเที่ยวและรูปแบบกิจกรรมต่างๆ รวมถึงยังได้ทำการเปรียบเทียบรูปแบบกิจกรรม สถานที่ รวมถึงเอกลักษณ์ต่างๆของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนันทนาการเพื่อศึกษาศักยภาพการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนันทนาการของประเทศญี่ปุ่น ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า สถานที่ท่องเที่ยวเชิงนันทนาการของประเทศญี่ปุ่นนั้นล้วนแล้วแต่มีกิจกรรม เทศกาลรวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตนเองอย่างเห็นได้ชัดซึ่งเหตุนี้จึงสิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างดีที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญอีกประการที่เป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวก็คือความมีศักยภาพในการจัดการกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีการสร้างความเป็นเอกลักษณ์ ความโดดเด่น รวมไปถึงการเผยแพร่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นไปสู่สายตาชาวโลกนั้นไม่ว่าจะเป็นจากการที่สอดแทรกเอาเทศกาลสำคัญๆต่างๆของประเทศญี่ปุ่นเข้าไปอยู่ในกิจกรรมพิเศษต่างๆที่จัดขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวเชิงนันทนาการ อาทิเช่น สวนสนุก Disneyland Tokyo สวนโอโดริ Universal Studios Japan สวนสัตว์อุเอะโนะ เป็นต้น ทำให้นักท่องเที่ยวต่างมีความสนใจและอยากเดินทางมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่น

โดย  นางสาวรุ่งรัตน์ อาป้อง บทคัดย่อ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวที่น่าสนใจและได้รับความนิยมทั้งจากกระแสความต้องการของนักท่องเที่ยวหรือการจัดให้เป็นกลุ่มสินค้าการท่องเที่ยวที่สำคัญของแต่ละประเทศรวมทั้งนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐที่มุ่งรักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์จากความสำคัญดังกล่าวผู้วิจัยจึงได้ศึกษานโยบายการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นและศึกษาแหล่งท่องเที่ยวและรูปแบบของกิจกรรมของสถานที่ท่องเที่ยวอีกทั้งยังศึกษาแนวทางในการจัดรูปแบบการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นผลการศึกษาพบว่านโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นนั้นประสบความสำเร็จอย่างมากโดยมีทั้งองค์กรจากรัฐบาลและเอกชนเป็นผู้สนับสนุนดูแล ส่วนรูปแบบของกิจกรรมของสถานที่ท่องเที่ยวและการจัดรูปแบบการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นสามารถจัดโปรแกรมประมาณ 7 วัน 5 คืน ค่าใช้จ่ายประมาณ 6-7 หมื่นบาท โดยมีภูมิภาคคันไซเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกโลกอีกด้วยโดยช่วงเวลาที่น่าท่องเที่ยวคือช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม เพราะเป็นช่วงที่ดอกซากุระกำลังเบ่งบานออกดอกสวยงาม อีกทั้งวัดคิโยมิสึเดระ มีการเปิดให้เข้าชมในช่วงค่ำโดยวัดจะมีการเปิดไฟส่องสว่างตามจุดต่างๆยามค่ำคืน ส่วนหมู่บ้านชิราคาวะโกะ ก็มีเทศกาลประดับไฟในฤดูหนาวเวลากลางคืนหรือ Winter Light-up อีกด้วย ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การท่องเที่ยวเชิงเกษตรในประเทศญี่ปุ่น

โดย  นางสาวมิณฑกานต์ สร้อยแสง บทคัดย่อ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นการท่องเที่ยวเพื่อเพลิดเพลินกับกิจกรรมทางการเกษตรในลักษณะต่างๆ อันจะนำมาซึ่งองค์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งหลายประเทศผลักดันให้เป็นการท่องเที่ยวทางเลือก และญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ผลักดันการท่องเที่ยวในหลากหลายภูมิภาค งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษา รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดฮอกไกโด จังหวัดนางาโนะ และจังหวัดชิสึโอกะ รวมถึงเสนอแนะแนวทางการพัฒนาจากจังหวัดข้างต้นนี้ไปประยุกต์ใช้ในประเทศไทย โดยผลการศึกษาพบว่า สภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเกษตรในจังหวัดนั้นๆ และต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งปัจจัยดึงดูดของแต่ละแหล่งท่องเที่ยวนั้นมาจากรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องที่ ในจังหวัดฮอกไกโด ขึ้นชื่อเรื่องฟาร์มโคนม กิจกรรมที่โดดเด่นคือการรีดนมวัว ทำไอศกรีม ชมโรงงานและพิพิธภัณฑ์  จังหวัดชิสึโอกะมีชื่อเสียงด้านการปลูกชา กิจกรรมที่โดดเด่นคือ เข้าคลาสชงชา เก็บใบชาจากไร่โดยสวมใส่ชุดเก็บชาโดยเฉพาะ เรียกว่า Tea girls  จังหวัดนางาโนะมีสวนแอปเปิ้ล มีกิจกรรมโดดเด่นคือเก็บผลไม้สดๆจากไร่ ทั้งสามจังหวัดนี้ได้แปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตในฟาร์มของตนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยยังต้องเพิ่มในส่วนของการจัดการบุคลากร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การสร้างเอกลักษณ์ รวมถึงการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวในฟาร์ม เพื่อเพิ่มศักยภาพให้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรของประเทศไทย ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่

โดย  นางสาวพัตรพิมล โอภาเฉลิมพันธ์ บทคัดย่อ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีประชากรวัยเกษียรจำนวนมากจึงมีนโยบายให้ประชากรวัยเกษียรในประเทศของตนมาท่องเที่ยวในรูปแบบการพำนักระยะยาวที่ต่างประเทศแทนจึงได้ศึกษานโยบายของประเทศญี่ปุ่น สถานที่ตั้ง รูปแบบการจัดการ และสิ่งอำนวยความสะดวกของแหล่งพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ จากการศึกษาพบว่า ประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายส่งเสริมให้ประชากรวัยเกษียรไปท่องเที่ยวในรูปแบบการพำนักระยะยาวในต่างประเทศ ญี่ปุ่นจึงเกิดองค์กรขึ้นเพื่อรองรับนโยบายการท่องเที่ยวนี้ 3 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิ Longstay Foundation  องค์กรส่วนบุคคลลองสเตย์สมาชิกคลับ  และ Chiang Mai Longstay Life Club อีกทั้งจากการศึกษาสถานที่ตั้งพบว่าที่พักที่อยู่ในตัวเมืองมีความสะดวกสบายครบครัน ส่วนที่พักที่อยู่ถัดออกไปจากตัวเมืองส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้แหล้งท่องเที่ยว สถานพยาบาล ร้านอาหาร เป็นต้น ด้านรูปแบบการจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สถานพำนักระยะยาวมีเหมือนกันทุกที่คือ Internet Cable TV สิ่งที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทที่นักท่องเที่ยวเลือกเข้าพัก แนวโน้มในอนาคตนักท่องเที่ยวอาจจะเข้ามาท่องเที่ยว long stay เพิ่มมากขึ้น ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การท่องเที่ยวโดยรถไฟในโอซาก้า

โดย  นางสาวปภาวี เชาวน์สุขุม บทคัดย่อ การท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างมาก สังเกตเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งการท่องเที่ยวโดยรถไฟถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง เมืองสำคัญอย่างโอซาก้า ก็มีรถไฟฟ้าและสถานีอยู่ติดกับแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ด้วยเหตุดังกล่าว งานวิจัยนี้จึงได้ทำการศึกษาระบบเครือข่ายและเส้นทางรถไฟในนครโอซาก้า รูปแบบการเดินทางและการใช้บริการรถไฟในญี่ปุ่น รวมถึงเส้นทางการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญตามแนวระบบเครือข่ายรถไฟในนครโอซาก้า โดยผลการศึกษาพบว่า รถไฟที่วิ่งในนครโอซาก้าสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้อย่างครอบคลุม รูปแบบการเดินทางสามารถตอบโจทย์ของนักท่องเที่ยวแต่ละประเภทได้ มีการออกบัตรโดยสารแบบเหมาจ่าย รวมถึงข้าวกล่องรถไฟ และ W-Fi ฟรีสำหรับนักท่องเที่ยว โดยแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานีรถไฟ ได้แก่ Umeda Sky Building, ปราสาทโอซาก้า, วัดชิเทนโนจิ, ย่าน Shinsekai, ย่าน Dotonbori, Universal Studio Japan และตลาดปลาโอซาก้า รวมถึงมีร้านอาหารและที่พักที่อยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวและสถานีรถไฟ การท่องเที่ยวที่ครอบคลุมของญี่ปุ่นจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษา สินค้า OVOP ในประเทศญี่ปุ่น

โดย  นางสาวณัฐสิมา อรชร บทคัดย่อ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวที่น่าสนใจและได้รับความนิยมทั้งจากกระแสความต้องการของนักท่องเที่ยวหรือการจัดให้เป็นกลุ่มสินค้าการท่องเที่ยวที่สำคัญของแต่ละประเทศรวมทั้งนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐที่มุ่งรักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากความสำคัญดังกล่าวผู้วิจัยจึงได้ศึกษาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในกรณีศึกษา สินค้า OVOP ของประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในหมู่บ้านมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ พบว่า โครงการ OVOP ประสบผลสำเร็จได้อย่างดีและสร้างกระแสการฟื้นฟูไปทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นจุดขายเอกลักษณ์และทรัพยากรของแต่ละท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ นำมาให้เกิดคุณค่ามากขึ้นโดยใช้วิธีการแปรรูปจนสินค้ามีเอกลักษณ์และได้รับความนิยมและได้รับความแพร่หลายไปสู่สากลในด้านกระบวนการทางความคิดการผลิต การรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแลกเปลี่ยนให้มีจุดเด่น และ มีจุดขายให้เป็นที่น่าจดจำ ยกตัวอย่าง จังหวัดฮอกไกโด ผลิตภัณฑ์ส่วนมากมาจากนมวัวเป็นหลัก ซึ่งน้ำนมของวัวฮอกไกโดนั้นมีคุณภาพสูง รสชาติอร่อย มีนวัตกรรมการผลิตที่สามารถคงความสดใหม่ของน้ำนมเอาไว้ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานโดยสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆได้อีกหลายอย่าง เช่น ชีสเค้ก เนย โยเกิร์ต ไอศกรีม และขนมปัง เป็นต้น ส่วนชิซึโอกะมีชาเขียวเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากพื้นที่เหมาะแก่การปลูกชา พิถีพิถันในการชง การเก็บ และการปลูกชาส่งผลให้ชาเขียวมีรสชาติหวานโดยธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องใส่น้ำตาลทำให้ได้รสชาติชาเขียวแท้ อีกด้วยจากข้อความข้างต้นจังหวัดทั้ง 2 จังหวัดมีทรัพยากรทางเกษตรที่ดี มีคุณภาพ และผสานเข้ากับการจัดการที่ดีและเป็นระบบจึงก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์แปรรูปในรูปแบบต่างๆที่น่าสนใจ ทำให้สินค้าเหล่านั้นมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการสายการบินไทยและสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ กรณีศึกษา : เส้นทางไทย– ญี่ปุ่น

โดย  นางสาวจุฑาทิพย์ ทองสถิ บทคัดย่อ ปัจจุบันนี้ผู้คนหันมาให้ความสนใจในการเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น เนื่องจากความสะดวกสบายและระยะเวลาในการเดิน ส่วนสายการบินก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการเดินทาง ทั้งทางธุรกิจและการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการบินจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเส้นทางไทย – ญี่ปุ่น กลยุทธ์ทางการตลาดและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการสายการบินไทยและสายการบินเจแปนแอร์ไลน์เส้นทางไทย– ญี่ปุ่น โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ใช้บริการสายการบินไทยและสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ โดยมีจุดหมายปลายทางคือประเทศญี่ปุ่น ณ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน พ.ศ.2559 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้สายการบินไทยมากที่สุดคือ ด้านบุคคล ด้านผลิตภัณฑ์ และด้านช่องทางการจัดจำหน่าย โดยมีความพึงพอใจเกี่ยวกับการให้บริการบนเครื่องเป็นอันดับแรก ความสะดวกสบายที่ได้รับ และช่องทางการจองตั๋วโดยสารรวมไปถึงขั้นตอนการเช็คอิน ส่วนสายการบินเจแปนแอร์ไลน์พบว่า ส่วนผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ พบว่า ด้านราคา บุคคล และผลิตภัณฑ์ โดยมีความพึงพอใจเกี่ยวกับราคาตั๋วโดยสาร การให้บริการบนเครื่องที่ประทับใจการบริการแบบญี่ปุ่น และสิ่งอำนวยความสะดวกที่แปลกใหม่ สร้างความรู้สึกที่ดีและน่าประทับใจต่อผู้โดยสาร ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การศึกษารูปแบบพื้นที่การเกษตรในประเทศญี่ปุ่น

โดย  นางสาวกฤตยา โสเพ็ง บทคัดย่อ ในการศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อ 1) ศึกษาพัฒนาการและรูปแบบการทำการเกษตรของประเทศญี่ปุ่น 2) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการทำการเกษตรของประเทศญี่ปุ่น และ 3) ศึกษาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของการเกษตร โดยใช้วิธีการศึกษาจากการทบทวนวรรณกรรม ผลการศึกษาพบว่า การเกษตรกรรมของประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2488) จะเป็นการพัฒนาการเกษตรไปพร้อมๆ กับการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ส่งผลให้การเกษตรของประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาให้ก้าวหน้าไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีใหม่ๆ การพัฒนาทางด้านการเกษตรนั้นจึงมีผลทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบของการเกษตรออกไปให้มีความหลากหลายมากกว่าเดิม โดยการพัฒนาการเกษตรกรรมนั้นก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ เพื่อที่จะสามารถทำการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรให้มีการพัฒนาไปในทางที่ดี มีคุณภาพและมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถวิเคราะห์ได้ถึงแนวทางในการพัฒนาการทำการเกษตรของประเทศญี่ปุ่นให้มีประสิทธิภาพและมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทัดเทียมหรือนำสมัยกว่าประเทศอื่นๆ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกเส้นทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาเที่ยวกรุงเทพมหานคร

โดย  นางสาวอิงครัต เลิศนันทกิจ บทคัดย่อ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายและมาตรการในการส่งเสริมการท่องเที่ยว วิเคราะห์เส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยม และจัดรูปแบบเส้นทางการท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับแหล่งท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครโดยวิเคราะห์ข้อมูลจากการเก็บรวบรวมจากบทความ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์จากบริษัทนำเที่ยว โปรแกรมทัวร์ผลการศึกษาและวิเคราะห์พบว่า นโยบายและมาตรกรในการส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น รัฐบาลได้ส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นให้การท่องเที่ยวในประเทศมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวชาวจีนจะมาเป็นหมู่คณะและเลือกใช้รูปแบบการท่องเที่ยวแบบแพ็คเกจนำเที่ยว โดยโปรแกรมนำเที่ยวนั้นส่วนมากจะพาไปชมความงามของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่ง 4 สถานที่นี้ ทุกบริษัทจะเลือกพานักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม เพราะสถานที่เหล่านี้มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นแหล่งเรียนรู้ อีกทั้งเป็นเอกลักษณ์ในการมาเที่ยวกรุงเทพมหานคร สามารถจัดเส้นทางและรูปแบบการท่องเที่ยวได้ 3 เส้นทาง คือ เส้นทางที่1 คือ เส้นทางชมวัด วัง เส้นทางที่2 คือ เส้นทางช้อปปิ้ง และเส้นทางสุดท้าย คือ เส้นทางชมโชว์ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การศึกษาการพัฒนาเขตท่าเรือคลังสินค้าทัณฑ์บน กรณีศึกษา ท่าเรือชินโจว ประเทศจีน

โดย  นางสาวอารยา ฉัตรเลิศมงคล บทคัดย่อ การศึกษาการพัฒนาเขตท่าเรือคลังสินค้าทัณฑ์บน กรณีศึกษา ท่าเรือชินโจว ประเทศจีน     มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ ศึกษาภาพรวมเศรษฐกิจของเขตท่าเรือชินโจวที่มีผลต่อเศรษฐกิจ ศึกษานโยบายของรัฐที่มีผลต่อการพัฒนาเขตท่าเรือชินโจว และศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาท่าเรือชินโจว โดยมีวิธีการศึกษาคือ นำข้อมูลทุติยภูมิจากบทความ และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์เชิงพรรณนา แล้วจัดทำตารางและแผนภูมิประกอบ ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ท่าเรือชินโจวมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งเขตท่าเรือคลังสินค้าทัณฑ์บน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีระยะทางใกล้กับอาเซียนมากที่สุด ถือได้ว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความสำคัญต่อการเปิดประเทศของประเทศจีน ซึ่งนโยบายและกลยุทธ์ต่าง ๆ ของรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาท่าเรือและเส้นทางเดินเรือทั้งในและต่างประเทศของเมืองชินโจว เพื่อให้เป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ทำให้ปัจจุบันเขตท่าเรือคลังสินค้าทัณฑ์บนชินโจวมีศักยภาพที่เพียบพร้อม เป็นศูนย์ขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ ศูนย์โลจิสติกส์ และฐานแปรรูปเพื่อการส่งออก ส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองชินโจวมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านความเป็นอยู่ของประชากร ด้านคมนาคมขนส่ง เป็นต้น อีกทั้งยังช่วยผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศจีนกับอาเซียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีกด้วย ดาวน์โหลด บทความวิจัย

บทบาทของเขตปกครองตนเองทิเบตต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน

โดย  นางสาวอรุณรุ่ง อนุรักษ์สกุล บทคัดย่อ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของเขตปกครองตนเองทิเบตต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีนซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอุตสาหกรรมทำเงินให้กับจีนมากเป็นอันดับหนึ่ง รัฐบาลจีนจึงได้ส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง โดยรณรงค์ให้ชาวจีนไปท่องเที่ยวทางด้านตะวันตกมากขึ้นเพื่อส่งต่อความเจริญไปทางด้านตะวันตกของจีน งานวิจัยนี้ได้ศึกษาเกี่ยวกับการกระจายของทรัพยากรท่องเที่ยวในเขตปกครองตนเองทิเบตปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของการท่องเที่ยวในเขตปกครองตนเองทิเบตและศึกษาบทบาทของเขตปกครองตนเองทิเบตที่มีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวจีนโดยเก็บรวบรวมข้อมูลในรูปแบบของทุติยภูมิจากหนังสือ บทความ ข่าว สถิติ ทั้งจากห้องสมุดของสถาบันและหน่วยงานต่างๆรวมทั้งข้อมูลจากสื่ออินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องทั้งไทยและต่างประเทศ โดยนำข้อมูลในรูปแบบของการบรรยาย อธิบาย ตาราง กราฟ เป็นต้น ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนและเอกชนได้มีการเข้าไปลงทุนในทิเบต และได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณูปโภคและได้ขยายเส้นทางในการติดต่อสื่อสารให้กว้างขึ้นคณะรัฐมนตรีจีนจึงได้ออกนโยบายในการเร่งพัฒนาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจีนโดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศจีนเร่งเห็นถึงความสำคัญกับเมืองทางตะวันตกและได้ออกนโยบาย“Look West” โดยส่งเสริมทางด้านสาธารณูปโภคเส้นทางคมนาคมและการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสนใจไปเที่ยวทางด้านตะวันตกของจีนมากขึ้น จากการวิจัยในครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่าควรมีการศึกษาหาข้อมูลค้นคว้าให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีนกับประเทศต่างๆที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สำเร็จแล้ว และควรศึกษาผลกระทบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีนและประเทศต่างๆ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

วิเคราะห์ผลกระทบของประชากรผู้สูงอายุต่อเศรษฐกิจในประเทศจีน

โดย  นางสาวอภิญญา ขัตตะวงษ์ บทคัดย่อ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุ แนวโน้มการเกิดประชากรผู้สูงอายุ รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบของประชากรผู้สูงอายุต่อเศรษฐกิจในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลทุติยภูมิตั้งแต่ปี ค.ศ.  1987-2016 จากเว็บไซต์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผลการศึกษาพบว่า ตั้งแต่ปีค.ศ.  1987-2016 ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปีค.ศ.  1987 มีผู้สูงอายุ ถึง 5.4 % ของประชากรทั้งหมด จนกระทั้งปีค.ศ.  2014 ประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 9.7 % ของประชากรทั้งหมด เนื่องมาจากประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยมีอายุ 65 หรือ 65 ปีขึ้นไป คาดว่าในปีค.ศ. 2020 ประชากรผู้สูงอายุจะมีถึง 12 % ของประชากรทั้งหมด ทำให้เกิดผลกระทบดังนี้ เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมาก จึงทำให้รายได้ประชาชาติ (GNP) น้อยลง รัฐบาลต้องเพิ่มสวัสดิการต่างๆ แก่ผู้สูงอายุ เช่น เบี้ยเลี้ยง ค่ารักษาโรค สวนสาธารณะ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ โครงการวิจัยนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวางนโยบายสำหรับโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดาวน์โหลด บทความวิจัย

แรงจูงใจในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศเกาหลีใต้

โดย  นางสาวสิตานัน รักษ์กำปั่น บทคัดย่อ ในช่วงชีวิตของคนที่รักการเดินทาง ไม่มีสิ่งใดที่จะมีความสุขไปกว่าการได้ไปเยือนสถานที่แปลกใหม่ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวขึ้น ที่ทำให้คนจากทั่วทุกมุมโลกได้สัมผัสหรือรับรู้ประสบการณ์ใหม่ๆที่พบเห็นหรือหาไม่ได้จากประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่ งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้ทำการศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมในประเทศเกาหลีใต้ รวมไปถึงกิจกรรมและรูปแบบพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ผลการศึกษาพบว่า จากการออกนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลเกาหลีทำให้เกาหลีประสบความสำเร็จในตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากทางรัฐบาลมีการใช้สื่อบันเทิงในการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีและสถานที่ท่องเที่ยวของเกาหลี รวมไปถึงการมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม ในส่วนเส้นทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากใน 3 ภูมิภาค คือ ภูมิภาคโซล, ภูมิภาคเชจู และภูมิภาคปูซาน โดยมีการนำเสนอสิ่งที่เหมือนกัน คือ การมีร้านขายสินค้าปลอดภาษี และร้านขายเครื่องสำอางเกาหลีแบรนด์ต่างๆ อีกทั้งมีร้านขายสินค้าทางด้านสุขภาพ ส่วนของกิจกรรมและรูปแบบพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เป็นคู่รัก พบว่าแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการจะเป็นที่นิยม ได้แก่ Myeongdong Street, Samcheong-dong, Lotte Department Store, N Seoul Tower และ Jagachi Market เพราะเกิดแรงจูงใจมาจากสถานที่ดังกล่าวมีชื่อเสียงในเรื่องความโรแมนติก เป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีย์เกาหลียอดนิยม มีกิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นคู่รัก งานวิจัยในครั้งนี้  สามารถนำไปเป็นแนวทางในการรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และพัฒนาการการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การพัฒนาเศรษฐกิจจีนรายมณฑล

โดย  นางสาวสาวิตรี แตงอ่อน บทคัดย่อ ตั้งแต่ปีค.ศ.1978 ประเทศจีนมีการปฏิรูปเปิดประเทศนั้นเศรษฐกิจจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และในปีค.ศ.2001 ประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกทำให้ประเทศจีนมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในระดับโลก งานวิจัยนี้ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับมณฑล รวมไปถึงรูปแบบของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่นำมาใช้กับประเทศไทยได้ จากการศึกษานี้งานวิจัยนี้พบว่า การวางนโยบายในการพัฒนานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถทำให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายพบว่าเศรษฐกิจในแต่ละมณฑลมีการพัฒนาที่แตกต่างกันไปตามภูมิประเทศ ทรัพยากรที่เอื้อต่อการผลิต นโยบายและกลยุทธ์ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ปีค.ศ.1995-2014 นั้น มณฑลที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในภูมิภาคสูงสุด คือมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู และซานตง มณฑลดังกล่าวล้วนอยู่บริเวณแถบชายฝั่งทางภาคตะวันออก  ของจีน เพราะมีข้อได้เปรียบในเรื่องการมีทางออกสู่ทะเลส่วนมณฑลที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในภูมิภาคต่ำสุด คือ เขตปกครองตนเองทิเบต มณฑลชิงไห่ และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยล้วนเป็นมณฑลทางภาคตะวันตกของจีนซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ช้า ประเทศไทยนั้นสามารถประยุกต์แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนมาเป็นแบบอย่างได้ เช่น การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของคนในประเทศ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและศุลกากร และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุน ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมณฑลกว่างตง ประเทศจีน

โดย  นางสาวสรัญรส ศุภชีวกุล บทคัดย่อ การศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจมณฑลกว่างตงมีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ เพื่อศึกษาภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจมณฑลกว่างตงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 – ค.ศ. 2014 เพื่อศึกษาปัจจัยและผลกระทบด้านกายภาพและเศรษฐกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจมณฑลกว่างตง โดยมีวิธีการศึกษาคือ รวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากบทความ เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจมณฑลกว่างตง มาวิเคราะห์เชิงพรรณนาแล้วจัดทำตารางและแผนภูมิประกอบ ผลการศึกษาพบว่า การพัฒนาเศรษฐกิจมณฑลกว่างตงอาศัยนโยบายของรัฐบาลและการสนับสนุนจากรัฐบาลทำให้การพัฒนาภายในมณฑลบรรลุผลสำเร็จได้ โดยจะเน้นการพัฒนาคมนาคมขนส่งให้สะดวกสบาย ครอบคลุมทุกด้านและเชื่อมโยงกับพื้นที่สำคัญก่อน จึงจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตตาม ทำให้ปัจจุบันมณฑลกว่างตงเป็นทั้งศูนย์กลางทางการค้าและธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีนตอนใต้และยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของจีนตอนใต้อีกด้วย ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีนจากเหตุการณ์ความไม่สงบและภัยพิบัติ

โดย  นางสาวศุภิสรา อูบแก้ว บทคัดย่อ การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละหลายสิบล้านบาท กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่มีสถานท่องเที่ยวหลากหลาย ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็นิยมเข้ามาท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนถือว่าเป็น กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีบทบาทอย่างมากต่อประเทศไทย เนื่องจากอิทธิพลของภาพยนตร์เรื่อง Lost in Thailand ที่ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนคนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อมาตามรอยของภาพยนตร์เรื่องนี้ ในงานวิจัยครั้งนี้เน้นนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2549-2558  เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบและภัยพิบัติต่าง ๆ ต่อพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมทั้งเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบและภัยพิบัติต่าง ๆ ต่อแหล่งท่องเที่ยว โดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์ก่อการร้าย รวมทางเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผลการวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ มีแนวโน้มลดจำนวนลง ยกเว้นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้นแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ นักท่องเที่ยวชาวจีนฮ่องกง นักท่องเที่ยวชาวจีนไต้หวัน และนักท่องเที่ยวชาวจีนสิงคโปร์ จากเหตุการณ์ความไม่สงบในไทยและภัยพิบัติต่าง ๆนั้น ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการตัดสินใจมาท่องเที่ยวในไทยของชาวจีนฮ่องกง ชาวจีนไต้หวัน และชาวจีนสิงคโปร์มากกว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ และยังส่งผลต่อแหล่งท่องเที่ยวต่างๆเป็นอย่างมากด้วย ดาวน์โหลด … Read more