ความเป็นกังฟูในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกา

โดย  นางสาวภิญญาพัชญ์ ศรีชัยสันติกุล

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่องความเป็นกังฟูในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกา โดยศึกษาจากภาพยนตร์อเมริกาทั้ง 3 เรื่อง คือ  “The Forbidden Kingdom” หนึ่งฟัดหนึ่ง ใหญ่ต่อใหญ่ (2008)   “Bloodsport” ขาเจาะเหล็ก (1988)   และ “Karate Kids” คาราเต้ คิดส์ (2010)   มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นกังฟูในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกา และศึกษาวิธีการสร้างภาพตัวแทนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกา โดยมีวิธีดำเนินการวิจัย คือ ศึกษาจากแหล่งข้อมูลเอกสาร ข่าว บทความ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำแนวคิดทางสังคมศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์

ผลการศึกษาพบว่าแบ่งความเป็นกังฟูออกเป็น 3 รูปแบบ คือ ความเป็นกังฟูแบบดั้งเดิมที่มีผู้ชายแก่ๆ เล่นอยู่ในป่า   ความเป็นกังฟูแบบเปลี่ยนผ่านที่เป็นการถ่ายทอดให้กับผู้ชายวัยรุ่นและเริ่มมีการแข่งขันกัน   และสุดท้ายคือ ความเป็นกังฟูแบบใหม่ที่เป็นการเผยแพร่สู่นานาชาติและมีการเปิดโรงเรียนสอน

ความเป็นกังฟูภายใต้บริบททางสังคมต่างๆ  มีวิธีการประกอบสร้างออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ  และมีความสัมพันธ์กับวิธีการสร้างภาพตัวแทนผ่านตัวละคร  ลักษณะนิสัย  หน้าที่การงาน  เสื้อผ้า  และสถานที่   ซึ่งเป็นการเลือกภาพโดยรวมออกมานำเสนอ  และทำให้เห็นว่ากังฟูเป็นเพียงส่วนประกอบย่อยของภาพยนตร์เท่านั้น  และบ่งบอกถึงความสำคัญของวัฒนธรรมจีน  ซึ่งสื่อเลือกที่จะผลิตซ้ำ  และนำเสนอภาพตัวแทนของสังคมที่ชายเป็นใหญ่ว่าผู้ชายเท่านั้นที่สามารถเล่นกังฟูได้  ผ่านบุคลิกภาพที่เข้มแข็งและร่างกายที่แข็งแรง  ส่วนผู้หญิงเป็นได้เพียงแค่ผู้ชมและผู้ที่คอยให้กำลังใจ   นอกจากนี้  สื่อยังนำเสนอภาพตัวแทนที่ว่ากังฟูเป็นภาพตัวแทนของผู้คนที่ไม่ประสบความสำเร็จ  จึงใช้กังฟูเป็นทางออกเพื่อไม่ให้กลับไปสนใจปัญหาดังกล่าว  และเพื่อที่จะลืมเกี่ยวกับเรื่องราวที่ไม่ดีในชีวิตของตนเอง

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf