การจัดการผลิตและการควบคุมคุณภาพชิ้นส่วนรถยนต์ของบริษัทฮอนด้า: กรณีศึกษา การผลิตเบาะของบริษัท Ts Tech

โดย นายปภพ  พิทยากรพิสุทธิ์

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง การจัดการผลิตและการควบคุมคุณภาพชิ้นส่วนรถยนต์ของบริษัทฮอนด้า: กรณีศึกษา การผลิตเบาะของบริษัท Ts Tech มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบผลิตภัณฑ์และศึกษากระบวนการผลิตเบาะรถยนต์ของบริษัท Ts Tech โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์พนักงานของบริษัทและหนังสือที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบผลิตภัณฑ์ของบริษัท Ts Tech คือชิ้นส่วนภายในของรถยนต์เช่นเบาะที่นั่งและแผงประตู แต่สิ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทคือ เบาะที่นั่ง กระบวนการผลิตเบาะรถยนต์มีทั้งหมด 4 ขั้นตอนคือ 1. ขั้นตอนการตัด (Cutting) เป็นขั้นตอนที่จะนำวัตถุดิบมาทำการตัดตามรูปแบบที่วาดไว้เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป 2. ขั้นตอนการเย็บ (Sewing) เป็นขั้นตอนที่นำวัตถุดิบจากขั้นตอนที่ 1 มาทำการเย็บให้เป็นแผ่นเดียวกัน 3. ขั้นตอนการเชื่อม (Welding) เป็นขั้นตอนที่ทำการประกอบเชื่อมโครงของเบาะ 4. ขั้นตอนการประกอบ (Assembly) เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่นำวัตถุดิบที่ผ่านการดำเนินการแล้วมาทำการประกอบเข้าด้วยกันเพื่อได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมส่งออก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องและช่วยส่งเสริมกระบวนการผลิตทั้งหมด 5 อย่าง คือ 1. การวางผังโรงงาน ซึ่งเกี่ยวกับการวางรูปแบบและส่วนต่างๆภายในโรงงานเพื่อให้การไหลของงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2. การวางแผนการผลิต เป็นการกำหนดแผนที่จะต้องผลิตในแต่ละครั้งหรือเป็นการกำหนดจำนวนที่ต้องผลิตในแต่ละวันเพื่อจะสามารถผลิตได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือนหรือในแต่ละปี 3. การจัดซื้อและการบริหารสินค้าคงคลัง เกี่ยวข้องกับการซื้อวัตถุดิบในแต่ละครั้งและการบริหารวัตถุดิบที่อยู่ในคลัง 4. การควบคุมการผลิตและการดำเนินงาน เป็นการควบคุมจำนวนที่ต้องผลิตในแต่ละครั้งซึ่งจะเกี่ยวข้องกับแผนการผลิต ส่วนการดำเนินงานเป็นแบบ Just in time คือต้องตรงตามเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถผลิตได้ตามเวลาจะทำให้การผลิตในรอบต่อไปคลาดเคลื่อนออกไป 5. การควบคุมคุณภาพ เป็นการใช้เครื่องจักรตรวจสอบคุณภาพในทุกขั้นตอนการผลิตว่าอยู่คุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบอยู่ในระดับมาตรฐานหรือไม่ นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยอีกด้วย

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf