แนวคิดและทัศนคติต่อความเป็นเพศจากรูปแบบของ Omegaverse และการยอมรับในเอเชีย

โดย นางสาวพีรดา ธนูศรี

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่องแนวคิดและทัศนคติความเป็นเพศจากรูปแบบของ Omegaverese  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะทางเพศจากรูปแบบของ Omegaverse รวมถึงวิเคราะห์และวิพากษ์สาเหตุของการยอมรับรูปแบบของ Omegaverse ในเอเชีย โดยมีวิธีการศึกษาเก็บข้อมูลแบบทุติยภูมิจากสิ่งตีพิมพ์ เอกสารที่ไม่ได้ตีพิมพ์ (วิทยานิพนธ์) และอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับปรัชญาความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อคนเอเชียตะวันออก และมีการนำแนวคิดแฟมินิสม์หรือที่ในเมืองไทยเรียกกันว่า สตรีนิยม (Feminism) มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ข้อมูล

ผลการศึกษาพบว่า ด้วยรูปแบบของโอเมก้าเวิร์ส (Omegaverse) ที่มีการแบ่งเพศรองเป็นอัลฟ่า เบต้า และโอเมก้านั้น สามารถทำความเข้าใจเรื่องเพศภาวะได้แม้จะเป็นสื่อประเภทรักร่วมเพศ (Homosexual) แบบชายรักชาย โดยลักษณะทางกายภาพของผู้เป็นโอเมก้านั้นจะแสดงถึงความเป็นเพศภาวะหญิง  ในเชิงอุปมาถึงสิ่งที่ผู้หญิงได้พบเจอในสังคม ผ่านทางตัวละครชายที่เป็นโอเมก้าที่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นเพศหญิง และฐานะทางสังคมจะถูกตัดสินจากความเป็นเพศ ตามวาทกรรมความหลากหลายทางเพศของแนวคิดสตรีนิยม (Feminism)

และจากการศึกษายังพบอีกว่าศาสนาและความเชื่อมีอิทธิพลมากต่อความคิดและการดำเนินชีวิตของคนเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอิทธิพลความเชื่อจากตะวันตกและลัทธิขงจื่อที่ทำให้สังคมมีทัศนคติ ทางลบต่อความหลากหลายทางเพศ ทำให้เพศที่สามไม่ได้รับการยอมรับทั้งในสังคมและกฎหมาย โดยคนเอเชียมองการรักเพศเดียวกัน (Homosexual) นั้นว่า “ผิดปกติ” หรือ “ผิดเพศ” ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเพศ โดยมีอุตสาหกรรมสี่อเกิดขึ้นมากมายที่สื่อถึงความหลากหลายทางเพศไม่ว่าจะเป็นนิยาย มังหงะ การ์ตูน และเกม เป็นต้น แต่ในความเปิดกว้างนั้นก็ยังแฝงไว้ด้วยความคิดความเชื่อแบบเดิมๆ อยู่ คือหน้าที่ของความเป็นเพศชายที่ต้องมีความแข็งแกร่ง เป็นหัวหน้าครอบครัว และความเป็นหญิงที่ต้องอ่อนแอ บอบบาง และสิ่งที่สังคมมองว่าแย่ที่สุดของการรักร่วมเพศก็คือการไม่มีทายาทสืบสกุล แต่ทว่าด้วยรูปแบบของโอเมก้า ที่ผู้ชายสามารถตั้งครรภ์ได้ รวมถึงการมีความเชื่อเรื่อง “คู่แห่งโชคชะตา” ที่เชื่อกันว่าเป็นลิขิตสวรรค์ไม่สามารถขัดขืนได้ และเมื่อจับคู่กันแล้วจะไม่สามารถแยกจากหรือพัดพรากจากกันได้อีก ซึ่งเป็นรูปแบบของวรรณกรรมรักโรแมนติกในเอเชีย ทำให้รูปแบบของโอเมก้าเวิร์สเป็นที่ยอมรับในสังคมเอเชียตะวันออกมากกว่าตะวันตก

ดาวน์โหลด บทความวิจัย

icon-pdf