การศึกษาเครื่องทองในยุคสามอาณาจักร: กรณีศึกษาสุสานพระเจ้ามูรยอง

นางสาวณฐกร ศรีสำโรง

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องการศึกษาเครื่องทองในยุคสามอาณาจักร: กรณีศึกษาสุสานพระเจ้ามูรยอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบ ความหมาย และลักษณะของเครื่องทองในสมัยอาณาจักรแพ็กเจ โดยมีวิธีการศึกษาจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครื่องทองในสมัยอาณาจักรแพ็กเจและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องทองที่พบในสุสานของพระเจ้ามูรยอง ทั้งเอกสารภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับรูปแบบศิลปะในประเทศจีนและญี่ปุ่นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบของเครื่องทองที่พบในสุสานพระเจ้ามูรยองนั้นมีรูปแบบที่จำแนกประเภทของเครื่องทองตามลักษณะการใช้งานออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องประดับศีรษะ ต่างหู สร้อย และเบ็ดเตล็ด โดยเน้นการออกแบบที่มีความเคลื่อนไหวเสมือนจริงตามธรรมชาติ มีความประณีต และงดงาม ส่วนความหมายและลักษณะของเครื่องทองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ความหมายด้านธรรมชาติและความเชื่อดั้งเดิมกับพุทธศาสนา ลวดลายส่วนใหญ่เป็นรูปธรรมชาติและสัตว์ ซึ่งสื่อให้เห็นถึงความผูกพันกับธรรมชาติ อิทธิพลทางพุทธศาสนา และลัทธิขงจื่อจากประเทศจีน ถึงแม้ว่าจะได้รับอิทธิพลทางด้านศาสนาจากจีนแต่ในสมัยนี้ยังคงรักษารูปแบบศิลปะดั้งเดิมของตนไว้ด้วย  การผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมของแพ็กเจและลัทธิขงจื่อของจีนดังที่ปรากฏในสัญลักษณ์บนเครื่องทอง

ดาวน์โหลด บทความวิจัย

icon-pdf