สามัญทัศน์ต่อวัฒนธรรมจีนที่ปรากฏในงานออกแบบโฆษณาโทรทัศน์ของไทย (Stereotype of Chinese identities in Thailand’s TVC)

นางสาวสุธิดา เอี่ยนเหล็ง

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องสามัญทัศน์ต่อวัฒนธรรมจีนที่ปรากฏในงานออกแบบโฆษณาโทรทัศน์ของไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะสามัญทัศน์ที่ปรากฏบนโฆษณา ศึกษาแหล่งที่มาของสามัญทัศน์โดยสังเขป และศึกษาความนิยมในการใช้วัฒนธรรมจีนในโฆษณาในช่วงระยะเวลา 7 ปี โดยมีวิธีการศึกษาจากการรวบรวมโฆษณาโทรทัศน์ที่ฉายในช่วง พ.ศ. 2549-2555 นำมาวิเคราะห์ เรียบเรียง และแปลงผลออกมาเป็นตาราง กราฟ และสรุปผลการศึกษา

ผลการศึกษาพบว่า สามัญทัศน์ที่พบในโฆษณาโทรทัศน์มีจำนวนกว่า 70 อัตลักษณ์ จัดหมวดหมู่ได้ดังนี้ (1) วัฒนธรรมการรับประทานอาหาร (2) ความเชื่อ (3) การเรียกขาน (4) เทศกาล (5) สถานที่ (6) ศิลปะการแสดงและการต่อสู้ (7) ภาษาจีน (8) เครื่องแต่งกาย (9) ข้าวของเครื่องใช้ (10) บุคคลและสัตว์  อัตลักษณ์เหล่านี้มีแรงบันดาลใจมาจากการรับรู้ การจดจำ การสร้างภาพในหัว โดยมีแหล่งที่รับมาดังนี้ (1) ภาพยนตร์ (2) ประวัติศาสตร์ (3) ศิลปะประจำชาติ (4) เรื่องเล่าขาน    (5) ความคุ้นเคยในวัฒนธรรมจีน (6) การได้รับประสบการณ์ด้วยตนเอง และความนิยมในการใช้วัฒนธรรมจีนในโฆษณาช่วง 7 ปี มีการเปลี่ยนแปลง คือ 5 ปีแรกมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง และใน  2 ปีหลังมีอัตราเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอัตลักษณ์จีนได้รับการหยิบยกมาใช้ในโฆษณาตลอดมาไม่เคยหายไป เนื่องจากเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกับคนไทยมานานและมีความโดดเด่นเป็นที่จดจำ

ดาวน์โหลด บทความวิจัย

icon-pdf