การศึกษารูปแบบศิลปะ และความเชื่อเล่าปุนเถ่ากง: กรณีศึกษา จังหวัดนครปฐม

นางสาวสุภกฤตา เขมวราภรณ์

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องการศึกษารูปแบบศิลปะ และความเชื่อเล่าปุนเถ่ากง: กรณีศึกษา จังหวัดนครปฐม  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาที่มา ความสำคัญของเล่าปุนเถ่ากงที่ประดิษฐาน ณ ศาลาเก๋งจีน องค์พระปฐมเจดีย์ รวมทั้งศึกษารูปแบบศิลปะ และความเชื่อของเล่าปุนเถ่ากง โดยมีวิธีการศึกษาจากเอกสารหลักฐาน ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับการเก็บข้อมูลภาคสนาม

ผลการศึกษาพบว่าเทพเล่าปุนเถ่ากงในจังหวัดนครปฐมปัจจุบันประดิษฐานที่โรงเจเหงียนเต่าตั๊ว-ปุนเถ่ากง ณ ถนนเทศา แต่เดิมเคยประดิษฐานศาลาเก๋งจีน ณ องค์พระปฐมเจดีย์ พร้อมกับแท่นประดิษฐานกระถางธูปทองเหลืองและโต๊ะวางเครื่องสักการะซึ่งมีจารึกบอกปีการสร้าง ซึ่งเทพเล่าปุนเถ่ากง (老本頭公) เป็นเทพผู้เป็นใหญ่ของชุมชนนั้นๆ มีหน้าที่ในระดับสูง คอยคุ้มครองดูแลอาณาเขตกว้างใหญ่ในระดับอำเภอและตำบล มีความสอดคล้องกับพระป้ายในศาลาเก๋งจีนคำว่า “護国保民” มีความหมายว่า “ปกป้องประเทศคุ้มครองประชาชน” ทั้งนี้ในประเทศไทยมีศาลเล่าปุนเถ่ากงเป็นจำนวนมากมักพบตามแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีน จากการศึกษาพบว่ารูปเล่าปุนเถ่ากงในจังหวัดนครปฐมมีลักษณะคล้ายกับเล่าปุนเถ่ากงที่ถนนทรงวาด สร้างขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2367 และต่อมามีการสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2525 โดยชาวจีนแต้จิ๋ว ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่าศาลาเก๋งจีนบริเวณทิศตะวันออกขององค์พระปฐมเจดีย์อันเคยเป็นที่ประดิษฐานเล่าปุนเถ่ากง สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมแรงใจสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ของชาวจีนในจังหวัดนครปฐมและอาจเป็นศาลหลักเมืองอันเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเมืองนครปฐม

ดาวน์โหลด บทความวิจัย

icon-pdf