คติหลงเชิงจิ่วจือ (เก้ามังกร) ในศิลปะจีน

นางสาวอรนุท ดวงจำปา

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องคติหลงเชิงจิ่วจือ (เก้ามังกร) ในศิลปะจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตำนานเก้ามังกร ซึ่งเป็นตำนานเกี่ยวกับราชามังกรที่มีพระโอรสเก้าพระองค์ โดยตำนานดังกล่าวยังคงมีความสับสนทั้งรายชื่อและลำดับของพระโอรส ดังนั้นผู้วิจัยจึงใคร่ศึกษาให้เกิดความชัดเจน โดยศึกษาผ่านงานศิลปะของประเทศจีนตั้งแต่ช่วงราชวงศ์ซ่งถึงราชวงศ์ชิง

ผลการศึกษาพบว่า ตำนานเก้ามังกรเป็นตำนานพื้นบ้านที่มีสืบทอดมาอย่างยาวนานของประเทศจีน โดยตำนานเก้ามังกรแพร่หลายอย่างมากในสมัยราชวงศ์หมิง เนื่องจากเริ่มมีบันทึกที่กล่าวถึงตำนานดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงเป็นจำนวนมาก เช่น บันทึกชู่หยวนจ๋าจี้ (树园杂记) ของลู่หรง (陆容) บันทึกฮว่ายลู่ถังจี๋ (怀麓堂集) ของหลี่ตงหยาง (李东阳) บันทึกเฉียนเชว่เล่ยชู (濳確類書) ของเฉินเหรินซี (陈仁锡) บันทึกอู๋จ๋าจู่ (无杂俎) ของเซี่ยจ้าวเจ้อ (谢肇浙) และบันทึกเชิงอานไหว้จี๋ (升庵外集) ของหยางเชิ่น (杨慎)

อย่างไรก็ตามตำนานเก้ามังกรไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับรายชื่อและลำดับของพระโอรสได้ เนื่องจากตำนานเก้ามังกรคือตำนานพื้นบ้านที่มีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่ อีกทั้งยังมีศิลปกรรมที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อที่เกี่ยวกับพระโอรสทุกตัวที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้มีเฉพาะพระโอรสจากบันทึกเล่มใดเล่มหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น บริเวณตำหนักไท่เหอเตี้ยนในพระราชวังต้องห้าม มีการนำชือเหวิ่นที่ปรากฏอยู่ทั้งในบันทึกของหลี่ตงหยาง เฉินเหรินซี เซี่ยจ้าวเจ้อ และหยางเชิ่น ไปประดับบนหลังคา และยังมีการนำปาเซี่ยที่ปรากฏอยู่แค่ในบันทึกของเซี่ยจ้าวเจ้อ ไปประดับบนท่อระบายน้ำ เป็นต้น

ดาวน์โหลด บทความวิจัย

icon-pdf