ศึกษาประติมากรรมฐานพระพุทธรูปศิลปะจามสมัยดงเดือง

นางสาวศุภนิดา อิศรเมธางกูร

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องศึกษาประติมากรรมฐานพระพุทธรูปในสมัยดงเดือง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและอิทธิพลของศิลปะจากภายนอกที่เข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 รวมถึงศึกษาความหมายของลวดลายที่ปรากฏบนฐานพระพุทธรูปศิลปะจามสมัยดงเดือง โดยศึกษาจากฐานพระพุทธรูปศิลปะจามสมัยดงเดือง ที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจามประจำเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม (The Museum of Sculpture, Da Nang – Vietnam)

ผลการศึกษาพบว่า ประติมากรรมฐานพระพุทธรูปศิลปะจามในสมัยดงเดืองที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลของพุทธศาสนานิกายมหายานนั้น เป็นฐานสำหรับพระพุทธรูปประธานของปราสาท   ดงเดือง รูปแบบและลวดลายบริเวณรอบฐานพระพุทธรูปจะมีภาพสลักหินทรายบอกเล่าเรื่องราว  พุทธประวัติของพระพุทธเจ้า เริ่มตั้งแต่ตอนทูลเชิญเทวะบุตรลงมาจุติ ตอนพระนางสิริมหามายาทรงสุบิน ตอนประสูติและตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ ดังปรากฏในคัมภีร์พุทธจริตของท่านอัศวโฆษที่นิยมใช้ในกลุ่มพุทธศาสนานิกายมหายาน

นอกจากนี้ด้วยความที่อาณาจักรจามปา  มีอาณาเขตติดกับทะเล มีความสามารถในการเดินเรือและเป็นเมืองท่าทางการค้าขนาดใหญ่ ทำให้ผู้คนและวัฒนธรรมจากภายนอก ได้แก่ อินเดีย ชวา และเขมร ได้หลั่งไหลเข้ามามีอิทธิพลในอาณาจักจามปา เกิดการแลกเปลี่ยนและผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างกันทั้งทางด้านความคิดความเชื่อ ด้านศาสนา ด้านภาษา และด้านศิลปะ

ดาวน์โหลด บทความวิจัย

icon-pdf