พฤติกรรมการบริโภคอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่น กรณีศึกษานักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

นางสาวฉันท์ชนก ธิติมูล

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “พฤติกรรมการบริโภคอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่น กรณีศึกษามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะวัฒนธรรมการกิน รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่นของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ โดยการเก็บข้อมูลลักษณะและวัฒนธรรมการกิน และพฤติกรรมการบริโภคของนักศึกษามหาวิทยาลัย ศิลปากรวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จำนวน 300 คน โดยการเก็บแบบสอบถาม และนำมาวิเคราะห์ในรูปแบบสถิติเชิงพรรณนา

ผลการศึกษาพบว่านักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จำนวน 300 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 21 – 24 ปี กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 มากที่สุด และมีรายรับเฉลี่ยต่อเดือนคือ 9,000 – 12,000 บาท นิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นมากกว่าอาหารจีน โดยกลุ่มเพศหญิงนิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นมากกว่ากลุ่มเพศชาย เมนูอาหารญี่ปุ่นที่นิยมบริโภคมากที่สุดคือชาบู และกลุ่มเพศชายนิยมบริโภคอาหารจีนมากกว่ากลุ่มเพศหญิง โดยเมนูอาหารจีนที่นิยมบริโภคมากที่สุดคือติ่มซำ และนักศึกษาผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่บริโภคอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่นเป็นจำนวน 1 – 2 ครั้งต่อเดือน โดยนิยมไปรับประทานกับกลุ่มเพื่อน ที่ห้างสรรพสินค้า มีค่าใช้จ่ายในการบริโภคแต่ละครั้งประมาณ 150 – 300 บาท และปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกบริโภคอาหารคืออาหารมีรสชาติที่อร่อย

ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกบริโภคอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่นที่นักศึกษาผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญมากที่สุด คือปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ความชอบส่วนตัว ซึ่งอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคืออาหารมีรสชาติที่อร่อย ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ อาหารมีหลากหลายประเภท และอาหารมีการตกแต่งอย่างสวยงาม ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกบริโภครองลงมา คือปัจจัยด้านลักษณะทางกายภาพในเรื่องของความสะอาดภายในร้าน การตกแต่งร้านที่ดูสวยงาม รวมถึงบรรยากาศภายในร้านอาหาร และความมีชื่อเสียงของร้านอาหาร ปัจจัยด้านบุคลากรที่มีผลต่อการเลือกบริโภค ได้แก่ พนักงานมีความสุภาพและใส่ใจในการให้บริการ บริการอย่างรวดเร็วและถูกต้อง และการต้อนรับ รวมถึงอัธยาศัยของพนักงาน ปัจจัยด้านราคาที่มีผลต่อการเลือกบริโภค ได้แก่ ราคามีความเหมาะสมต่อคุณภาพและปริมาณ รวมไปถึงราคามีความเหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับร้านอาหารอื่น และสามารถชำระค่าอาหารได้หลายช่องทาง เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต ผ่านการโอนเงินโดยการสแกน QRCODE และ เงินสด ปัจจัยด้านช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีผลต่อการเลือกบริโภค ได้แก่ ใกล้บ้าน สถานศึกษา หรือแหล่งนัดพบ ความสะดวกของสถานที่ตั้งหรือสะดวกต่อการเดินทาง รวมทั้งมีที่จอดรถ การที่ร้านอาหารมีหลายสาขาให้บริการ และสามารถสั่งอาหารผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ ปัจจัยด้านกระบวนการที่มีผลต่อการเลือกบริโภค ได้แก่ ความสะดวกและรวดเร็วในขั้นตอนการรับบริการ ความรวดเร็วในการประกอบอาหารของร้านอาหาร ความสะดวกและรวดเร็วในการชำระค่าอาหาร และสามารถจองคิวออนไลน์หรือโทรจองล่วงหน้าได้ และปัจจัยด้านการตลาดที่มีผลต่อการเลือกบริโภค ได้แก่ การที่ร้านอาหารมีโปรโมชั่นเพื่อลดราคาอาหาร การมีโฆษณาร้านอาหารผ่านทางเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Facebook, Twitter เป็นต้น รวมทั้งมีการสะสมแต้มเพื่อเป็นส่วนลดในการรับประทานอาหารครั้งต่อไป

บทความวิจัยฉบับเต็ม