พัฒนาการเมืองท่าการค้าฮอยอันในคริสต์ศตวรรษที่ 17

นางสาวกุษุมา ขุดปิ่น

บทคัดย่อ

บทความวิจัยชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนต่างๆ ที่เข้ามาทำ การค้าขายในเมืองท่าฮอยอันของเวียดนามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งนอกจากจะมีชุมชนการค้าของชาวจีน และชาวญี่ปุ่นเป็นชุมชนสำคัญแล้ว ยังปรากฏร่องรอยของชนชาติอื่นๆ ที่เข้ามายังฮอยอันอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงมิติทางประวัติศาสตร์กับเมืองฮอยอันในปัจจุบันซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศเวียดนาม

ผลจากการประมวลความรู้จากเอกสารและผลงานต่าง ๆ ตามระเบียบวิธีวิจัยประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าฮอยอันเริ่มปรากฏตัวมาตั้งแต่อาณาจักรจามปา ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 โดยชาวจามเรียกบริเวณเมืองท่านี้ว่า  “ลัมแอปโพ” ฮอยอันเริ่มมีบทบาทมากขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่เจริญสูงสุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เนื่องจากความต้องการฟื้นฟูบริเวณเมืองท่าของขุนนางตระกูลเหงียน และได้ดำเนินนโยบายเปิดการค้า และความสัมพันธ์กับต่างประเทศเพราะต้องการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และกำลังทหารเพื่อรับมือกับขุนนางตระกูลจริ่นห์ทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการขยายตัวทางการค้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้เมืองท่าฮอยอันเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการชื่อว่า “ไฟโฟ” นอกจากนี้ปัญหาทางการเมืองระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในสมัยราชวงศ์หมิงทำให้เมืองท่าฮอยอันกลายเป็นศูนย์ถ่ายสินค้าและมีบทบาทสำคัญเพราะเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าของจีน – ญี่ปุ่นกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเข้ามาของชาวจีนและญี่ปุ่นเหล่านี้ทำให้เกิดชุมชนการค้าที่สำคัญ คือ ชุมชนจีน และชุมชนญี่ปุ่น อีกทั้งยังปรากฏร่องรอยของผู้คนจากภูมิภาคอื่น ๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกไกล ตะวันออกใกล้ และทวีปยุโรป เป็นต้น มาค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้ายังเมืองท่าฮอยอัน อย่างไรก็ตาม ผลจากสงครามกลางเมืองระหว่างขุนนางริ่นห์ (Chua Trinh) และขุนนางเหงียน (Chua Nguyen) ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทำให้ร่องรอยของชุมชนชาวญี่ปุ่นได้สูญหายไป เหลือไว้เพียงร่อยรอยจากวัฒนธรรมจีนที่สะท้อนให้จากสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในปัจจุบัน นอกจากนั้น สิ่งที่น่าสนใจสืบเนื่องจากการค้นคว้าเพื่อทำงานวิจัยชิ้นนี้คือทำให้ทราบถึงการค้าเครื่องเซรามิค หรือเครื่องชามสังคโลกจากจังหวัดสุพรรณบุรี และ สวรรคโลก ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างมากของไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับยุครุ่งเรืองของงานหัตถกรรม และงานเซรามิคของเวียดนาม ภายใต้ราชวงศ์เลเซอ (Le So) สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการค้าทางทะเลของเวียดนามนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ก่อนที่เมืองท่าฮอยอันจะกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ และมีบทบาทสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 17

บทความวิจัยฉบับเต็ม