เกอิชาในสังคมญี่ปุ่นหลังสมัยเมจิจนถึงปี 2019

นางสาวปณิตา โอศิริ

บทคัดย่อ

บทความวิจัย“เกอิชาในสังคมญี่ปุ่นหลังสมัยเมจิ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานะที่เปลี่ยนไปของเกอิชายุครุ่งเรือง หรือ ตั้งแต่ ยุคเอโดะ ปี 1603 จนถึงปัจจุบันปี 2019 และเพื่อศึกษาสถานภาพของอาชีพเกอิชาในปี 2019 โดยมีวิธีการศึกษาจากหนังสือ วรรณกรรม วารสารทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษาพบว่า สถานภาพของเกอิชาตั้งแต่ยุคเอโดะจนถึงปี 2019 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการที่ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงสงครามและสิ่งที่ต้องเจอหลังพ่ายแพ้สงครามส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเช่นกัน เกอิชาที่แต่เดิมมีความนิยมมากเพราะความสวยงามและความละเอียดอ่อนในการให้บริการทำให้ผู้ใช้บริการยอมจ่ายค่าบริการที่มีราคาสูงรวมไปถึงรับอุปการะเกอิชาเป็นภรรยารอง หรือภรรยาเอก เมื่อเข้าสู่สมัยเมจิเกอิชากลายนเป็นที่นิยมมากกว่าเดิมจนกลายเป็นศิลปะประจำประเทศญี่ปุ่นควบคู่ไปกับชุดกิโมโนที่เกอิชาสวมใส่ และการเข้ามาของอารยธรรมตะวันตกในสมัยเมจิก็ยังไม่สามารถทำให้ความนิยมของเกอิชาลดลงเท่าไรนัก จนกระทั่งประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง อุตสาหกรรมสถานบันเทิงต้องปิด เศรฐกิจซบเซา เกอิชาถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานในโรงงานทำให้จำนวนเกอิชาลดลงอย่างมาก และการเข้ามาของทหารอเมริกันหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามทำให้โสเภณีที่เรียกตนเองว่าเกอิชาเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับเกอิชาจนถึงปัจจุบัน

สถานภาพของเกอิชาในปี 2019 พบว่า เกอิชาไม่ได้กลับไปมีความนิยมแบบแต่ก่อนแล้วเพราะสังคมที่เข้าสู่สมัยใหม่และเริ่มมีการเรียกร้องสิทธิสตรีในปัจจุบันทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น ความคิดที่จะฝึกฝนอย่างหนักจนกลายเป็นเกอิชาหรือการทำงานบริการแก่บุรุษเพศจึงหมดไป แต่ก็ยังมีเกอิชาที่มีชื่อเสียงบางคนยังพยายามอนุรักษ์อาชีพเกอิชาให้ยังอยู่คู่กับประเทศญี่ปุ่นต่อไป เกอิชาในปัจจุบันจึงมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและง่ายที่จะเข้าถึงและใช้บริการมากขึ้น

บทความวิจัยฉบับเต็ม