จุดเริ่มต้นของนวนิยายแนว YAOI ในญี่ปุ่นและกระแสความนิยมในประเทศไทย ช่วงทศวรรษ 1960 ถึงปัจจุบัน

นางสาวโยษิตา เพิ่มธัญกิจกุล

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง “จุดเริ่มต้นของนวนิยายแนว YAOI ในญี่ปุ่นและกระแสความนิยมในประเทศไทยช่วงทศวรรษ 1960 ถึงปัจจุบัน” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบททางสังคมญี่ปุ่นเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดนวนิยายแนว YAOI และเพื่อศึกษาความนิยมของนวนิยายแนว YAOI ในประเทศไทย โดยใช้วิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ และสืบค้นข้อมูลจากเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัย

ผลการศึกษาพบว่าสังคมญี่ปุ่นในสมัยอะสุกะได้รับอิทธิพลของขงจื๊อจากอิทธิพลของวัฒนธรรมจีน ทำให้หลัก “สี่คุณธรรม สามคล้อยตาม” กลายเป็นหลักปฏิบัติของผู้หญิงญี่ปุ่นในยุคนั้น และมีการสร้างอำนาจโดยการให้บุตรสาวแต่งงานกับผู้มีอำนาจเหนือกว่า และจากหลักคำสอนดังกล่าวส่งผลให้ผู้หญิงถูกปลูกฝังว่าหลังแต่งงานต้องทำตามคำสั่งของสามี ทำหน้าที่ภรรยาและแม่ที่ดีโดยไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง ผู้หญิงจึงไม่สามารถพูดถึงเรื่องทางเพศได้จึงเกิดการสร้างโลกจินตนาการขึ้นเพื่อปลดปล่อยความทุกข์จากการกดขี่ของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ โดยสร้างตัวละครชายสองคนขึ้นและกล่าวถึงการแสดงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างตัวละคร จากโลกจินตนาการกลายเป็นการสร้างการ์ตูนหรือนวนิยายที่มีตัวละครเป็นผู้ชายกับผู้ชายหรือก็คือ YAOI ซึ่งนวนิยายแนว YAOI ในประเทศญี่ปุ่นมีมาตั้งแต่สมัยเอโดะในปี 1682 และปรากฏขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1970 โดยมีการผลิตสื่อแนวนี้ออกมาเรื่อย ๆ และได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยช่วงปี 1996 โดยนวนิยายชายรักชายที่พบในประเทศไทยส่วนมากเป็นนวนิยายชายรักชายประเภทแฟนฟิคชั่นและประเภทออริจินัล ซึ่งนวนิยายชายรักชายเริ่มได้รับความนิยมในปี 2018 และแพร่หลายในปี 2019 เมื่อนวนิยายประเภทออริจินัลเรื่องใดได้รับการตอบรับที่ดี มักจะถูกหยิบยกไปดัดแปลงเป็นซีรีส์ และในปัจจุบันซีรีส์ชายรักชายได้รับความสนใจมากกว่าซีรีส์รัก
ชายหญิงทั่วไป

บทความวิจัยฉบับเต็ม