นโยบายต่างประเทศทางเศรษฐกิจของเวียดนามต่อประเทศเกาหลีใต้

นางสาวนภสร ศิริ

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่อง “นโยบายต่างประเทศทางเศรษฐกิจของเวียดนามต่อประเทศเกาหลีใต้” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายต่างประเทศของเวียดนามที่สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศและเพื่อศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเวียดนามและเกาหลีใต้ ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

ผลการศึกษาพบว่าก่อนเวียดนามจะเริ่มนโยบายต่างประเทศ เวียดนามเคยปิดประเทศและรับความช่วยเหลือแต่กับประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองเดียวกันอย่างสหภาพโซเวียยต เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายทำให้การช่วยเหลือต่างๆ หายไปเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันสงครามสั่งสอนกับจีนเพิ่งจะจบลงทำให้พืชผลทางเศรษฐกิจเสียหาย รวมถึงการลงทุนของภาครัฐที่เน้นการลงทุนไปที่อุตสาหกรรมหนักตามชาติตะวันตกทำให้ความสมดุลของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเลื่อมลํ้ากัน ที่สำคัญการบริหารของรัฐที่วางแผนเศรษฐกิจแบบซับซ้อนจนทำให้เศรษฐกิจในประเทศขาดสภาพคล่อง เกิดเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 500 ณ ตอนนั้นเวียดนามต้องการให้เงินตราต่างประเทศเข้ามาหมุนเวียนในระบบด้วย จึงเกิดนโยบายโด่ยเหมย (Doi Moi) หรือการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1986 การปฏิรูปทางเศรษฐกิจนี้ได้นำการเปลี่ยนแปลงสำคัญมาสู่ระบบเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยได้เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจเดิมที่รวมศูนย์จากส่วนกลางมาสู่เศรษฐกิจที่ใช้ระบบกลไกตลาดแต่ระบบใหม่นี้ก็เป็นระบบทุนนิยมของรัฐ เป็นระบบเศรษฐกิจกึ่งเสรีเพราะยังคงอยู่ใต้การนำของรัฐ จุดสำคัญของปฏิรูปคือ ส่งเสริมเศรษฐกิจหลายภาค(Multi-Sectorial economy) ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจปัจเจกชน เศรษฐกิจระดับครอบครัว นอกเหนือไปจากเศรษฐกิจภาครัฐและเศรษฐกิจระบบรวมกลุ่ม นอกจากนี้ ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมเบาแทนอุตสาหกรรมหนัก ส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมนโยบายสัมพันธ์กับต่างประเทศ

หลังจากการประกาศถอนกองกำลังยึดครองจากกัมพูชาในปี ค.ศ.1989 และการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพว่าด้วยการแก้ไขปัญหากัมพูชา ณ กรุงปารีส ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1991 ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ผลักดันเวียดนามให้สามารถเข้าหาและได้การต้อนรับเข้าสู่ประชาคมโลกได้เร็วยิ่งขึ้น ได้แก่ ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน กลุ่มอุตสาหกรรมตะวันตกหรือ G7 รวมถึงกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมไปกับการ “การทูตในทุกทิศทาง” (Omnidirectional Diplomacy) ซึ่งมีความหมายว่า ต้องนำการทูตเพื่อการสร้างความสัมพันธ์กับทุกๆประเทศ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของระบบการเมืองเวียดนามได้เริ่มความสัมพันธ์กับเกาหลีเมื่อปี 1992 ด้วยการไปเยือนประเทศของกันและกัน จากนั้นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นไปด้วยดีตลอดมาจนปี 2016 ได้มีการลงนามจัดตั้ง Korea Vietnam Free Trade Agreement เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นรวมถึงข้อตกลงต่าง ๆ ที่พร้อมจะนำทั้งสองประเทศก้าวสู่เวทีโลก ส่วนโยบายทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ดึงดูดนักลงทุนเกาหลีใต้ได้ดีที่สุดคือการลงทุนแบบร้อยละ 100 ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะเป็นเรื่องยากในการจัดการ แต่ปัจจุบันมีการตั้งศูนย์ One-Stop-Service สำหรับนักลงทุนที่สนใจโดยมีผู้เชี่ยวชาญได้การลงทุนให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนและข้อปฏิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้าง ภาษี ฯลฯ

บทความวิจัยฉบับเต็ม