ธุรกิจเกิดใหม่เพื่อรองรับสังคมของผู้สูงอายุญี่ปุ่น

นายชนกันต์ ดีประเสริฐกุล

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง “ธุรกิจเกิดใหม่เพื่อรองรับสังคมของผู้สูงอายุญี่ปุ่น” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ศึกษาลักษณะของธุรกิจที่เกิดขึ้นมาในสังคมผู้สูงอายุญี่ปุ่น และกลยุทธ์ของผู้ประกอบการที่ใช้ในการสร้างสินค้าและบริการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น โดยการศึกษาครั้งนี้ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์โดยเน้นศึกษาจากเอกสารชั้นรอง เช่น หนังสือ วิทยานิพนธ์ บทความวิชาการ และข้อมูลออนไลน์ โดยนำมาเรียบเรียงและวิเคราะห์ในการทำวิจัยซึ่งค้นคว้าจากห้องสมุดพระราชวังสนามจันทร์ และอินเตอร์เน็ต

ผลการศึกษาพบว่า ประเทศญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์โดยใช้เวลาเพียง 24 ปี และในปัจจุบันญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่เรียบร้อยแล้ว มีจำนวนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ สาเหตุเพราะประชากรในสังคมมีอายุยืนยาวขึ้นและกลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตลดลง การเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคมข้างต้นนั้น ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนในมิติต่าง ๆ ทางสังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว ภาคธุรกิจก็เป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีการปรับตัวในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนไป ธุรกิจที่เติบโตส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ประกอบการได้เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางการตลาดให้สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุได้ง่ายขึ้น ทั้งผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการ ราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด คุณภาพของพนักงาน การนำเสนอ และกระบวนการการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งประเภทธุรกิจหลายแห่งได้นำกลยุทธ์ดังกล่าวไปปรับใช้ ได้แก่ ธุรกิจด้านการแพทย์และเภสัชสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจด้านการดูแล และ ธุรกิจสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งธุรกิจทั้ง 3 ประเภทนี้ล้วนใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยทั้งสิ้น โดยเฉพาะการใช้หุ่นยนต์แทนที่มนุษย์

บทความวิจัยฉบับเต็ม