พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1979 – ปัจจุบัน

นางสาวณัฐวดี อินทกาญจน์

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง “พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1979 – ปัจจุบัน” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของการสร้างประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1979 – ปัจจุบัน และศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกาหลีใต้มีประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ โดยมีวิธีการศึกษาด้วยวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ (Historical Approach) อาศัยหลักฐานข้อมูลทุติยภูมิ (เอกสารชั้นรอง) ภาษาไทยและภาษาอังกฤษสำหรับศึกษาและเรียบเรียงผลการศึกษาในรูปแบบของบทความวิจัย

ผลการศึกษาพบว่า พัฒนาการของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เกิดขึ้นครั้งแรกเกิดขึ้นมาจากปัจจัยภายนอกที่ต้องบีบบังคับให้มีระบอบการปกครองนี้ กล่าวคือ การอยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐอเมริกา จึงมีการนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในเกาหลีใต้ด้วย และภายในประเทศยังมีรากฐานของความเป็นประชานิยมมาตั้งแต่อดีต จนมีการนำแนวคิดของระบอบประชาธิปไตยจากภายนอกและภายในประเทศมาปรับใช้เป็นรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว เกาหลีใต้กลับต้องตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมจากรัฐบาลพลเรือน จนทำให้ประชาชนต้องออกมาต่อสู้เพื่อทวงคืนประชาธิปไตย ต่อมาเกาหลีใต้ถูกยึดอำนาจจากกองทัพ ทำให้การปกครองของประเทศอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารร่วม 3 ทศวรรษ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ ประชาชนจึงต้องแสดงพลังอีกครั้งเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้แก้รัฐธรรมนูญ และให้กองทัพเป็นกลางทางการเมือง นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 9 ในปี ค.ศ. 1987 ยังเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอีกด้วย  หลังจากนั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มาจากประชาชนก็เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียง 5 ปีต่อ 1 วาระเท่านั้นตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประชาธิปไตยจะมีความมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังพบการฉ้อราษฎร์บังหลวงของประธานาธิบดีตลอดระยะเวลา 20 กว่าปี การมีกฎหมายที่เข้มงวดและมีประชาชนตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไม่สามารถทำให้การฉ้อราษฎร์บังหลวงหายไปจากระบบการเมืองของเกาหลีใต้ได้ อาจจะต้องให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบการทำงานของรัฐเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเปรียบเสมือนกลไกที่สามารถถ่วงดุลอำนาจของรัฐ บรรดากลุ่มประชาชนทั้งหลายจึงเป็นตัวแสดงสำคัญในการส่งเสริมประชาธิปไตยให้มั่นคงมาตลอด

บทความวิจัยฉบับเต็ม