ข้อพิพาททะเลจีนใต้จากมุมมองชาตินิยมเวียดนาม (ปี ค.ศ. 1947 ถึง ปี ค.ศ.2020)

นางสาวปวริศา บุญกอบแก้ว

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้จากมุมมองชาตินิยมเวียดนาม (ปี ค.ศ. 1947 ถึง ปี ค.ศ.2020) ศึกษาพัฒนาการความขัดแย้งในประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้จากมุมมองชาตินิยมเวียดนามตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 ถึงปี ค.ศ.2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ข้อพิพาทดังกล่าวกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศของเวียดนามและกระทบโดยตรงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเวียดนามกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่าประเด็นปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ถูกขับเคลื่อนจากแนวคิดชาตินิยมของเวียดนามตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซลหรือหว่างซา (Paracel Islands/Hoàng Sa) และหมู่เกาะสแปรตลีย์หรือเจื่องซา (Spratly Islands/Trường Sa) ในทะเลจีนใต้เป็นของเวียดนามตั้งแต่ช่วงปลายยุคจารีตหรือต้นอาณานิคม โดยการอ้างกลุ่มหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติเวียดนาม เช่น พงศาวดารของราชวงศ์เหงวียน และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของนานาชาติ เช่น เอกสารจดหมายเหตุของฝรั่งเศส อีกทั้งนำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 (UNCLOS) มาประยุกต์ใช้ร่วมด้วย ด้านกระแสสังคมเวียดนามแสดงท่าทีต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวชัดเจนตลอดเรื่อยมาเช่นกัน ทั้งภาคประชาชน องค์กร รวมถึงภาครัฐ และจากการศึกษาเรื่องแนวทางการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของชาตินิยมเวียดนามพบว่าบริบทของสถานการณ์ในประเทศ ระหว่างประเทศ และโลกมีส่วนทำให้แนวดำเนินการด้านความมั่นคงเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ของเวียดนามเปลี่ยนแปลไป

อย่างไรก็ดีแม้ว่าข้อพิพาททะเลจีนใต้จะเป็นประเด็นสืบเนื่องระหว่างเวียดนามและจีนมาโดยตลอด แต่มีความพยายามที่จะผลักดันไปสู่การแก้ปัญหาโดยสันติวิธีด้วยการเจรจา

บทความวิจัยฉบับเต็ม