การศึกษาวัฒนธรรมด้านอารมณ์ในเพลงK-POP กรณีศึกษา ค่ายเพลง SM Entertainment

นางสาวพิมพ์ลภัส เถามานกูล

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง “การศึกษาวัฒนธรรมด้านอารมณ์ในเพลงเคป็อบ กรณีศึกษาค่ายเพลง SM Entertainment” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอารมณ์ของเพลงและความเป็นเพศ โดยมีวิธีการศึกษา คือ ศึกษารูปแบบของอารมณ์ และสัญญะของอารมณ์ต่าง ๆ ผ่านผลงานเพลงและคลิปมิวสิควิดีโอของศิลปินสังกัดค่าย SM Entertainment จำนวนทั้งหมด 4 วง ประกอบไปด้วย ศิลปินวง Girls’ Generation, EXO, Red Velvet และ NCT127 โดยเป็นผลงานเพลงที่เผยแพร่ออกมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 – 2563 และดำเนินการโดยใช้แนวคิดทางสังคมศาสตร์ ได้แก่ แนวความคิดเรื่องภาพแทน แนวความคิดเรื่องอารมณ์ และแนวความคิดเรื่องความเป็นเพศ มาประกอบการศึกษาวิเคราะห์

ผลการศึกษาพบว่าผลงานเพลงของศิลปินทั้ง 4 วงมีลักษณะของอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรักเป็นหลัก เช่น การตกหลุมรัก เขินอาย ผิดหวังในความรัก และมีอารมณ์ของความมุ่งมั่นสู้เพื่อฝัน สนุกสนานร่าเริง และการให้กำลังใจ และลักษณะของอารมณ์ดังกล่าวที่ปรากฏอยู่ในเพลงก็มีความแตกต่างกันออกไปด้วยบริบททางเพศและวัย ในเรื่องวัยจะถูกแบ่งออกเป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ที่มีความแตกต่างกันด้านบุคลิกภาพและการแต่งกาย โดยในช่วงวัยรุ่นนั้นเป็นวัยที่มีความฝัน เริ่มมีความสนใจในเพศตรงข้าม ลักษณะบุคลิกภาพจึงมีความสดใสร่าเริงในวัยรุ่นหญิง และคึกคะนองก้าวร้าวต่อต้านในวัยรุ่นชาย และเมื่อเติบโตขึ้นเป็นวัยผู้ใหญ่ก็เริ่มมีความสุขุมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีอารมณ์ที่อ่อนไหวกับเรื่องของความรัก นอกจากนี้แล้วในช่วงวัยเดียวกันก็มีความแตกต่างกันของลักษณะบุคลิกภาพและการแต่งกาย เช่น ความเป็นผู้หญิงเรียบร้อยอ่อนหวาน ผู้หญิงเปรี้ยวมั่นใจ ผู้ชายเข้มแข็ง หรือผู้ชายน่ารักขี้เล่น โดยขึ้นอยู่กับอำนาจทับซ้อนจากครอบครัวและฐานะเศรษฐกิจที่ศิลปินแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นอุตสาหกรรมดนตรีจึงไม่ได้มีเพียงแค่เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ผลิตซ้ำความเป็นหญิงและความเป็นชายภายใต้อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ของสังคมเกาหลี