วัฒนธรรมการกดดันและการปลดปล่อยของผู้ชายญี่ปุ่น กรณีศึกษาละครเรื่อง I’m Home

นางสาวชาลิสา ฉัตรภูติ

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง “วัฒนธรรมการกดดันและการปลดปล่อยของผู้ชายญี่ปุ่น กรณีศึกษาละครเรื่อง I’m Home” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมการกดดันผู้ชายของสังคมญี่ปุ่น วัฒนธรรมการแสดงออกและการปลดปล่อยของผู้ชายญี่ปุ่นในละครเรื่อง I’m Home โดยมีวิธีการศึกษาโดยใช้แนวความคิดทางสังคมศาสตร์ ดังนี้ แนวความคิดภาพแทน แนวความคิดเพศภาวะและเพศวิถี แนวความคิดการสร้างวินัยและการเมืองชีวะ และแนวความคิดการต่อต้าน มาประกอบการศึกษาและวิเคราะห์โดยมีขอบเขตการศึกษาภายใต้เนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง I’m Home

ผลการศึกษาพบว่า วัฒนธรรมการกดดัน การแสดงออก และการปลดปล่อยของผู้ชายมีความแตกต่างกันตามช่วงวัย และฐานะทางเศรษฐกิจ โดยวัฒนธรรมการกดดันในวัยเด็กจะเกิดขึ้นในสองพื้นที่ ได้แก่ ที่บ้านและที่โรงเรียน การกดดันที่บ้านจะเน้นการกดดันเรื่องการเรียน และการทำหน้าที่แทนพ่อให้ได้ ซึ่งพ่อจะเป็นฝ่ายกดดันมากกว่าแม่ เพราะต้องการให้ลูกเติบโตมารับการกดดันในวัยผู้ใหญ่ได้ การกดดันที่โรงเรียนจะเน้นเรื่องการเข้าสังคม กดดันโดยครูที่บังคับให้กล้าแสดงออก และเพื่อนที่ล้อเลียน ส่วนการกดดันในวัยผู้ใหญ่เกิดขึ้นในสองพื้นที่เช่นกัน ได้แก่ ที่บ้านและที่ทำงาน การกดดันที่บ้านจะเน้นการต้องทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวที่ดี ในขณะที่การกดดันในที่ทำงานเกิดจากระบบทุนนิยมชายเป็นใหญ่ ที่มีระบบอาวุโสซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของสังคมญี่ปุ่น จึงเน้นการกดดันให้ทำงานหนัก และมีการแข่งขันกันระหว่างเพื่อนร่วมงานเพื่อทำผลงานที่ดีตามคำสั่งของเจ้านาย

ส่วนในเรื่องวัฒนธรรมการแสดงออกพบว่า  ผู้ชายวัยเด็กสามารถแสดงออกได้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะสังคมคาดหวังกับเด็กน้อยกว่า ผู้ชายวัยผู้ใหญ่จึงแสดงออกด้วยการพยายามทำตัวเข้มแข็ง และในเรื่องวัฒนธรรมการปลดปล่อยพบว่ามีการปลดปล่อยสองรูปแบบ คือการปลดปล่อยด้วยการพยายามปรับตัวและแก้ไขปัญหา กับการปลดปล่อยด้วยการทำกิจกรรมอื่นทดแทน ซึ่งการปลดปล่อยรูปแบบนี้เกิดจากการที่ผู้ถูกกดดันไม่สามารถแสดงออกความกดดันกับผู้ที่สร้างความกดดันให้โดยตรงได้ จึงมีการสร้างวัฒนธรรมอื่นทดแทน ซึ่งผู้ชายที่ฐานะดีจะมีทางเลือกในการปลดปล่อยมากกว่าผู้ชายที่ฐานะไม่ดี เพราะมีทุนทางสังคมที่มากกว่า