กระแสความนิยมสุนัขพันธุ์ชิบะในประเทศญี่ปุ่น

นางสาวมนธนกร นันทยา

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “กระแสความนิยมสุนัขพันธุ์ชิบะในประเทศญี่ปุ่น” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการเคลื่อนย้ายที่ทำให้เกิดกระแสความนิยมของสุนัขพันธุ์ชิบะในประเทศญี่ปุ่น และ ศึกษาการเคลื่อนย้ายอุดมการณ์จากภาพยนตร์เรื่อง “เพื่อนซื่อ ชื่อมาริ” โดยมีวิธีการการศึกษาโดยใช้แนวคิดทางสังคมศาสตร์ ดังนี้ แนวคิดวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) แนวคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายทางวัฒนธรรม แนวคิดหลังมนุษยนิยม (Post humanism) และ แนวคิดเรื่องสิทธิสัตว์ (Animal Liberation) มาประกอบการศึกษาและวิเคราะห์

ผลการศึกษาพบว่าลักษณะการเคลื่อนย้ายของสุนัขพันธุ์ชิบะนั้น จะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมของยุคนั้น ๆ  โดยในยุคที่ 1 ยุค Shiba Go Inter เป็นยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ยังไม่ก้าวหน้ามากนัก ทำให้ลักษณะการเคลื่อนย้ายของสุนัขพันธุ์ชิบะจึงยังจำกัดอยู่ในเฉพาะประเทศญี่ปุ่น และประเทศที่เข้ามาติดต่อกับประเทศญี่ปุ่นโดยตรง อย่างประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และสื่อในสมัยนั้น เป็นสื่อที่ไม่หลากหลายมากนัก มีเพียงสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์  ทำให้สุนัขพันธุ์ชิบะเกิดความนิยมเฉพาะกลุ่มที่สามารถเข้าถึงสื่อเหล่านั้นได้เท่านั้น แต่สำหรับในยุคที่ 2 ยุค Shiba Popular เป็นยุคที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี การสื่อสารต่าง ๆ พัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเป็นยุคโลกาภิวัฒน์ที่พื้นที่แต่ละที่สามารถเข้าถึงกันได้ง่ายมากขึ้น ทำให้สุนัขพันธุ์ชิบะได้เคลื่อนย้ายไปยังประเทศต่าง ๆ

จากการที่สุนัขพันธุ์ชิบะได้แสดงในภาพยนตร์ชื่อดัง A Tale of Mari and three puppies ทำให้สามารถวิเคราะห์การเคลื่อนย้ายอุดมการณ์ในภาพยนตร์ ได้ว่ามนุษย์มีการปฏิบัติและมีโลกทัศน์ต่อสัตว์เลี้ยงที่แตกต่างกันออกไปตามบริบทสังคมและฐานะของครอบครัว รวมถึงเงื่อนไขของความเป็นเพศและวัยที่มีผลกำหนดโลกทัศน์ แสดงให้เห็นว่าสุนัขพันธุ์ชิบะได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่น ๆ ทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงภัยพิบัติ เนื่องจากสุนัขพันธุ์ชิบะเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันกับมนุษย์และการได้อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะดี สุนัขพันธุ์ชิบะจึงได้รับการปฏิบัติอย่างมีสิทธิสัตว์มากกว่าสัตว์ประเภทอื่น ๆ