บาดแผลทางประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 กับมาตรการการตอบโต้ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต่อเกาหลีใต้

นางสาววัชราภา ภาษี

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง “บาดแผลทางประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 กับมาตรการการตอบโต้ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต่อเกาหลีใต้” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นได้ดำเนินต่อเกาหลีใต้ภายหลังจากที่ศาลสูงสุดเกาหลีใต้ได้มีคำสั่งให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินค่าเสียหายชดเชยแก่แรงงานชาวเกาหลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และศึกษาผลกระทบที่เกาหลีใต้ได้รับจากมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยศึกษาจากหนังสือ บทความวารสาร วิจัย และในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมทั้งเรื่องราวในประวัติศาสตร์อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องจากศาลสูงสุดเกาหลีใต้

ผลการศึกษาพบว่า เกาหลีใต้และญี่ปุ่นทั้งสองประเทศนี้มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน โดยตลอดช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปีค.ศ. 1910 – 1945 ที่ญี่ปุ่นได้ปกครองเกาหลีนั้นเปรียบเสมือนฝันร้ายของชาวเกาหลี ญี่ปุ่นได้ทำการเอารัดเอาเปรียบและตักตวงผลประโยชน์จากดินแดนเกาหลีหลายอย่าง เช่น การยึดพื้นที่ทำกินของชาวเกาหลีแล้วนำไปตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม การดำเนินนโยบายกลืนวัฒนธรรม และการเกณฑ์ชาวเกาหลีไปร่วมรบในสงครามโลก อีกทั้งได้นำไปใช้เป็นแรงงาน ซึ่งเป็นการใช้แรงงานที่หนักและเต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้ เกาหลีใต้และญี่ปุ่นไม่ได้มีการติดต่อความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด จนกระทั่งในปีค.ศ. 1965 ทั้งสองประเทศได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้น ทั้งสองประเทศได้มีการลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์พื้นฐาน (Treaty on Basic Relations) ร่วมกัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันและเป็นไปในแนวทางการพึ่งพากันและกันมากขึ้น โดยมีเรื่องด้านเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของทั้งสอง อย่างไรก็ตามการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศก็ยังคงมีอุปสรรคอยู่ เนื่องจากสาเหตุเรื่องราวในประวัติศาสตร์

ในเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 2018 ศาลของเกาหลีใต้ได้มีคำสั่งให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินค่าเสียชดเชยแก่แรงงานชาวเกาหลีในช่วงสงครามโลก ซึ่งคำสั่งศาลดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ญี่ปุ่นได้เข้าใจว่าค่าเสียหายทั้งหมดได้ชำระไปแล้วในครั้งที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามสนธิสัญญาขั้นพื้นฐานร่วมกัน จากความเข้าใจไม่ตรงกัน ส่งผลให้ญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายตอบโต้ด้านเศรษฐกิจต่อเกาหลีใต้ คือ นโยบายการจำกัดสินค้านำเข้า และการถอดถอนเกาหลีใต้ออกจากบัญชีรายชื่อประเทศคู่ค้าสำคัญ (Whitelist) ของญี่ปุ่น การดำเนินนโยบายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเกาหลีใต้ทั้งในภาคการผลิตและการส่งออก เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก เกาหลีใต้มองว่าการที่ญี่ปุ่นดำเนินมาตรการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากคำสั่งศาลในปีค.ศ. 2018 ซึ่งเป็นเรื่องทางการเมืองและเป็นมาตรการที่เลือกปฏิบัติ ดังนั้นเกาหลีใต้จึงตัดสินใจยื่นร้องเรียนเรื่องมาตรการดังกล่าวกับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)

จากมาตรการของญี่ปุ่นและการที่เกาหลีใต้ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลกได้นำพาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมาสู่จุดตกต่ำ เกาหลีใต้จำเป็นต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบนำเข้าเพื่อลดการพึ่งพาจากญี่ปุ่นมากขึ้น จากสถานการณ์ที่ตึงเครียดของทั้งสองประเทศได้ทำให้เกาหลีใต้มีแผนในการยุติข้อตกลงด้านความมั่นคงและข่าวกรองการทหารทั่วไป (General Security of Military Information Agreement : GSOMIA) กับญี่ปุ่น เพื่อเป็นการตอบโต้และกดดันให้ญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการการค้าที่ดำเนินกับเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นก็คงยืนยันในการใช้มาตรการดังกล่าว และไม่มีแผนในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งประเทศคู่ค้าของเกาหลีใต้