ภาพแทนความรุนแรงในสังคมญี่ปุ่น : กรณีศึกษาภาพยนตร์เรื่อง The World of Kanako

นายวาสุ ปุญญะยันต์

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์  “ภาพแทนความรุนแรงในสังคมญี่ปุ่น : กรณีศึกษาภาพยนตร์เรื่อง The World of Kanako” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพแทนความรุนแรงสังคมชายเป็นใหญ่ และศึกษาการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งด้วยวิธีต่าง ๆ ในภาพยนตร์เรื่อง The World of Kanako โดยมีวิธีการศึกษาโดยใช้แนวความคิดทางสังคมศาสตร์ ดังนี้ แนวความคิดภาพแทน แนวความคิดความรุนแรง และแนวความคิดสังคมชายเป็นใหญ่ มาประกอบการศึกษาและวิเคราะห์โดยมีขอบเขตการศึกษาภายใต้เนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง The World of Kanako

ผลการศึกษาพบว่า จากวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 ศึกษาภาพแทนความรุนแรงสังคมชายเป็นใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น จากภาพยนตร์เรื่อง The World of Kanako พบว่า ภาพแทนความรุนแรงสังคมชายเป็นใหญ่นั้นแตกต่างกันไปตามลักษณะแต่ละพื้นที่ในสังคม ในพื้นที่สังคมเมือง มีลักษณะความรุนแรงต่าง ๆ ทั้งได้แก่ การฆาตกรรม การข่มขืน ค้าประเวณี การทำร้ายร่างกาย การพูดจาดูถูกดุด่าซึ่งเกิดจาก การกดทับในสังคมชายเป็นใหญ่ ในพื้นที่โรงเรียน มีลักษณะของการการกลั่นแกล้ง และในพื้นที่ครอบครัว มีลักษณะความรุนแรงของ การทำร้ายร่างกายในครอบครัว การพูดจาทำดูถูกบุตร จากวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ ในลักษณะของสังคมชายเป็นใหญ่นั้นพบว่า เกิดการกดทับผู้คน ของโครงสร้างทางสังคมทั้งหญิงและชายที่แตกต่างกันไป ส่งผลให้กลุ่มคนที่เป็นเหยื่อของระบบไม่เหลือทางเลือก และต้องใช้ความรุนแรงในการโต้กลับเพื่อให้ตนเองนั้นอยู่รอดภายใต้ระบบสังคมชายเป็นใหญ่ โดยมีปัญหาการทำร้ายร่างกายในสังคมเมืองมากที่สุด เหยื่อจึงใช้การทำร้ายร่างกายในการโต้กลับปัญหา เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้