รูปแบบศิลปะพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Kudara Kannon)

นางสาวสุปรียา วันคำ

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง “รูปแบบศิลปะพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Kudara Kannon)” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบศิลปะของประติมากรรมทางศาสนาและอิทธิพลที่มีต่อรูปแบบศิลปะของประติมากรรมทางศาสนาของประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีในช่วงศตวรรษที่ 6 โดยเฉพาะประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (คูดาระ คันนง) โดยผู้จัดทำวิจัยได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบศิลปะและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ประติมากรรมทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาเกาหลี

ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบของประติมากรรมทางศาสนาในประเทศญี่ปุ่น ช่วงยุคอาซึกะได้รับอิทธิพลทางศิลปะมาจากประเทศจีนและประเทศเกาหลีในช่วงสามอาณาจักรอย่างมาก โดยเฉพาะอาณาจักรแพคเจซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ส่งผลให้ประติมากรรมในสมัยอาซึกะได้รับอิทธิพลจากสมัยสามอาณาจักรอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (คูดาระ คันนง) ที่มีรูปแบบโดดเด่นต่างกับประติมากรรมส่วนใหญ่ในสมัยอาซึกะ และเป็นประติมากรรมที่เห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรแพคเจ อย่างไรก็ตามประติมากรรมคูดาระ คันนง ยังแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ในสมัยอาซึกะอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานว่าศิลปินผู้สร้างเป็นชาวแพคเจที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น