คิมจียอง เกิดปี 82 การบอกเล่าถึงสตรีเกาหลีและสิ่งที่ต้องเผชิญ

นางสาวสุภัทรา แนบสนิท

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง “คิมจียอง เกิดปี 82 การบอกเล่าถึงสตรีเกาหลีและสิ่งที่ต้องเผชิญ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงประเด็นปัญหาที่ผู้หญิงเกาหลีใต้ต้องเผชิญในเรื่องสังคมการทำงานและสังคมในครอบครัว รวมไปถึงรูปแบบการเล่าเรื่องและถ่ายทอดของภาพยนตร์ว่าเพราะเหตุใดภาพยนตร์เรื่องนี้จึงได้สร้างแรงสั่นสะเทือนและเกิดเป็นกระแสอย่างมากในสังคมเกาหลี ผ่านตัวละครหญิงที่นำเสนอออกมาในการดำเนินเรื่อง โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีการศึกษาเอกสารที่พูดถึงประเด็นเรื่องบทบาท สถานภาพของผู้หญิงเกาหลี รวมถึงประเด็นทางสังคมในเรื่องการทำงานและสังคมในครอบครัวของเกาหลีที่ส่งผลต่อผู้หญิง มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากงานเอกสารวิจัย สื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยได้แบ่งหัวข้อการวิเคราะห์และหยิบยกตัวอย่างฉากจากในภาพยนตร์ออกมาประกอบเป็น 3 หัวข้อใหญ่ นั่นคือ การวิเคราะห์ภาพยนตร์จากการแบ่งประเภทฉาก ซึ่งผู้วิจัยได้แบ่งฉากออกเป็น 2 ประเภท นั่นคือ ฉากที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นปัญหาที่ผู้หญิงเกาหลีใต้ต้องเผชิญในสังคมการทำงานและในสังคมครอบครัว การวิเคราะห์ในประเด็นเรื่องการถ่ายทำ แสง สี มุมกล้อง รูปแบบการถ่ายทอดเรื่องราวในภาพยนตร์ และการวิเคราะห์ถึงแรงสั่นสะเทือนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากคิมจียอง เกิดปี 82 โดยจากการแบ่งหัวข้อและหยิบยกตัวอย่างฉากภาพยนตร์มาศึกษาและวิเคราะห์นั้น ผลการศึกษาพบว่าประเด็นปัญหาที่สะท้อนออกมาจากเรื่องราวในภาพยนตร์นั้นมีความสอดคล้องกับเหตุการณ์สังคมในปัจจุบันที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องราวของคิมจียองมีการถ่ายทอดที่แยบยลและตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในสังคมซึ่งเกิดจากแนวคิดในอดีตที่คงไว้ซึ่งปิตาธิปไตยที่ทำร้ายประชากรหญิงไม่ว่าจะในฐานะหนึ่งในสมาชิกในครอบครัวหรือหนึ่งในประชากรในสังคมก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับคิมจียองนั้นในด้านสภาพสังคมการทำงานหรือสภาพสังคมครอบครัวต่างล้วนเป็นสิ่งที่ผู้หญิงเกาหลีต้องประสบพบเจอในชีวิตจริง และตัวละครคิมจียองนี้ถือได้ว่าเป็นตัวแทนที่ส่งเสียงแทนพวกเธอในสังคมที่ต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจากที่กล่าวมานี้เองจึงเป็นสาเหตุให้คิมจียอง เกิดปี 82 กลายเป็นสื่อที่ถูกถ่ายทอดชั้นดีซึ่งทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนและกระแสทางสังคมมากมายให้เกิดการถกเถียงและหันกลับมามองถึงปัญหาในสังคมว่าถึงเวลาหรือยังที่คุณภาพของผู้คนในสังคมนั้นจะต้องมีการพัฒนาและเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อตามให้เท่าทันกับการพัฒนาของประเทศโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง