ความงดงามในความไม่สมบูรณ์ของเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกของญี่ปุ่น ศึกษาจากแนวคิดคินสึงิและวะบิซะบิ

นางสาวอรนิดา ทวีลาภ

บทคัดย่อ

บทความวิจัย “ความงดงามในความไม่สมบูรณ์ของเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกของญี่ปุ่น ศึกษาจากแนวคิดคินสึงิและวะบิซะบิ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดคินสึงิและวะบิซะบิผ่านการศึกษาเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกของญี่ปุ่น ศึกษาความเป็นมาของการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกญี่ปุ่นด้วยวิธีการคินสึงิ ตลอดจนศึกษาประวัติความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาในประเทศญี่ปุ่นโดยมีวิธีการศึกษาค้นคว้าและเก็บรวบรวมจากหนังสือที่เกี่ยวข้องกับศิลปะของญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์ศิลปะญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากอินเตอร์เน็ต

จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องระหว่างศิลปะญี่ปุ่น โดยศึกษาจากเครื่องปั้นดินเผาเป็นสำคัญ และแนวคิดทางปรัชญา 2 แนวคิด ได้แก่ แนวคิดคินสึงิ และแนวคิดวะบิซะบิ

ผลการศึกษาพบว่า เครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่นมีมาตั้งแต่สมัยโจมงเป็นต้นมา โดยเริ่มแรกสร้างขึ้นเพื่อให้มีความเหมาะสม สะดวกต่อการใช้งาน ต่อมามีการสร้างอย่างประณีตและเน้นรูปลักษณ์มากขึ้นเพื่อความสวยงาม และเป็นที่นิยมมากขึ้นเนื่องจากความนิยมในการจัดพิธีชงชา ซึ่งจะต้องใช้เครื่องปั้นดินเผาหลายชิ้นในการจัดพิธี และเมื่อถูกใช้บ่อยครั้งและเกิดการแตกหักเสียหาย ก็ก่อให้เกิดแนวคิดทางปรัชญาที่สำคัญที่สอนให้โอบรับความเป็นธรรมชาติ ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของสรรพสิ่งบนโลก ชื่นชมในความงามของความไม่สมบูรณ์แบบเหล่านั้นและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข