กระแสความนิยมหวนกลับของดนตรีแนว City pop และอิทธิพลต่อดนตรีในประเทศไทย กรณีศึกษาวง Polycat

นายวราฤทธิ์ อมรพงศ์

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “กระแสความนิยมหวนกลับของดนตรีแนว City pop และอิทธิพลต่อดนตรีในประเทศไทย กรณีศึกษาวง Polycat” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้ดนตรีแนว City pop กลับมาเป็นที่นิยมในปัจจุบัน และภาพแทนเกี่ยวกับการหวนรำลึกถึงอดีต รวมถึงกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นส่งอิทธิพลต่อผลงานเพลงในวงการดนตรีในประเทศไทยอย่างไร ผ่านกรณีศึกษาวง Polycat โดยการศึกษาบทความ สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และวิเคราะห์องค์ประกอบของ City Pop ที่วง Polycat นำมาใช้ใน Ep.POLYCAT The Ordinary Love Story และ Ep.Doyobi no Terebi

ผลการศึกษาพบว่าความนิยมของดนตรี City Pop ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากวิดีโอเพลง “Plastic Love” ของ Mariya Takeuchi กับการปรากฎขึ้นในอัลกอลึธึมแนะนำวิดีโอของ YouTube เป็นผลจากความสนใจที่ทับซ้อนกันของผู้ฟังบนอินเทอร์เน็ต แรกเริ่มนั้นเกิดขึ้นจากการเป็นตัวอย่างในการสร้างงานของแนวดนตรีย่อยที่ถือกำเนิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ตและปรากฎการณ์ lo-fi beast ซึ่งมีจุดร่วมทางดนตรีและศิลปะโดยการสั่นพ้องของ 2 ปรากฎการณ์ที่เชื่อมโยงกันนี้ทำให้ความนิยมขยายตัวขึ้น ภาพแทนการหวนรำลึกถึงอดีตของ City Pop เกิดจากการสร้างความหมายผ่านความรู้สึกที่ผู้ฟังมีร่วมกันซึ่งสะท้อนออกมาเป็นสุนทรียภาพร่วมสมัย และการศึกษาอิทธิพลของกระแสนิยมผ่านกรณีศึกษาวง Polycat พบว่าองค์ประกอบของ City Pop ใน Ep.POLYCAT The Ordinary Love Story คือ การผสมผสานดนตรีฟิวชั่นแจ๊สญี่ปุ่นเข้ากับดนตรีฝั่งสหรัฐอเมริกา และใน Ep.Doyobi no Terebi มีจุดเด่นเรื่องความสนุกสนานของดนตรีซิตี้ป๊อปผสมผสานกับเสียงเครื่องเป่า