การศึกษานาฏศิลป์ราชสำนักของจีน ในสมัยราชวงศ์ถัง : กรณีศึกษา การแสดงระบำอาภรณ์ขนนก (霓裳羽衣)

นายศุภกร ด้วงนา

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “การศึกษานาฏศิลป์ราชสำนักของจีน ในสมัยราชวงศ์ถัง : กรณีศึกษา การแสดงระบำอาภรณ์ขนนก (霓裳羽衣)” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและรูปแบบของนาฏศิลป์ราชสำนักของจีนในสมัยราชวงศ์ถัง ผ่านการแสดงระบำอาภรณ์ขนนก (霓裳羽衣) โดยมีวิธีการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาและรูปแบบของนาฏศิลป์ราชสำนักของจีนในสมัยราชวงศ์ถัง ผ่านการแสดงระบำอาภรณ์ขนนก (霓裳羽衣) จากนั้นเก็บรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงผลการศึกษาในรูปแบบของงานวิจัย

ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบของนาฏศิลป์ราชสำนักของจีนในสมัยราชวงศ์ถัง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. รูปแบบจินตนิยม คือ รูปแบบของดนตรีและนาฏศิลป์ที่ใช้จินตนาการและแนวคิดที่เป็นนามธรรมในการสร้างสรรค์ผลงาน มีลักษณะเป็นเทวนิยมเป็นหลัก 2. รูปแบบสัจนิยม คือ รูปแบบของดนตรีและนาฏศิลป์ที่ได้รับการสร้างสรรค์ภายใต้ภายความเป็นจริงของสภาพสังคม มีรูปแบบที่เรียบง่ายและเคร่งครัดน้อยลง และ3. รูปแบบความทุกข์ระทม คือ รูปแบบของดนตรีและนาฏศิลป์ที่ได้รับการสร้างสรรค์ในช่วงเวลาอันเสื่อมถอยในปลายยุคของราชวงศ์ถัง มีลักษณะเรียบง่ายและสง่างาม นอกจากนี้รูปแบบอื่น ๆ ที่ยังปรากฏให้เห็น ได้แก่ 1. การแสดงที่ทรงพลัง คือ การแสดงที่มีจังหวะรวดเร็ว ประกอบกับท่าทางที่แข็งแรง ดุเดือด 2. การแสดงที่อ่อนช้อย คือ การแสดงที่มีจังหวะเชื่องช้า ประกอบกับท่าทางที่อ่อนช้อยงดงาม