รสนิยมกับการบริโภคเพลงตะวันตกในสังคมญี่ปุ่นกับทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคม

โดย นางสาวชลธิชา จันทร์ดิษฐวงษ์

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมเพลงตะวันตกในสังคมญี่ปุ่นแต่ละยุคที่มีอิทธิพลต่อลักษณะรสนิยมการบริโภคเพลงตะวันตกในสังคมญี่ปุ่น อันจะนำไปสู่การสร้างทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคม โดยการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการที่เป็นทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเพลงและดนตรีตะวันตกในสังคมญี่ปุ่นตลอดจนลักษณะเพลงของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ว่าได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตกมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ได้นำแนวความคิดต่างๆ ทางด้านสังคมศาสตร์มาใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์อิทธิพลของเพลงตะวันตกที่มีต่อสังคมญี่ปุ่น

ผลการศึกษาพบว่า แนวเพลงของชาติตะวันตกได้แพร่เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับเหล่าทหารชาวอเมริกันที่เข้าไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นภายหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลุ่มเครือข่ายตะวันออกไกล โดยในระยะแรกเป็นแนวเพลงประเภทเพลงแจ๊ส ซึ่งต่อมาก็ตามมาด้วยแนวเพลงร็อก ป็อปร็อก และป็อป นอกจากนี้ยังมีแนวเพลงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน หากแต่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดเท่าแนวเพลงดังกล่าว

ในส่วนของการศึกษารสนิยมการฟังเพลงตะวันตกของคนญี่ปุ่น พบว่า รสนิยมในการฟังเพลงกระทำผ่านเงื่อนไขทางสังคมในเรื่องของชนชั้น การศึกษา เพศสภาวะและช่วงวัยของผู้บริโภค อันนำไปสู่การสร้างสังคมเครือข่าย และเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องของทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคมที่นำไปสู่วัฒนธรรมการฟังเพลงตะวันตกของคนญี่ปุ่น ที่ในตอนแรกมีสถานะเป็นเพียงผู้ฟังหรือผู้บริโภค แต่ต่อมาได้พัฒนากลายมาเป็นผู้สร้างเพลงเอง ด้วยการสะสมทุนจากการฟังเพลงตะวันตกจนพัฒนามาเป็น “ทุนทางวัฒนธรรม” ให้กับวงดนตรี (นักร้อง นักดนตรี) แต่ในขณะเดียวกันผู้ฟังก็ได้กลับมาเป็นผู้สร้างทุนดังกล่าวและเป็นผู้กำหนดรสนิยมด้วย

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf