ความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและวิญญาณของญี่ปุ่น

โดย นางสาวปิยาภา มาเสถียร บทคัดย่อ บทความวิจัย “ความเชื่อเรื่องภูตผีและวิญญาณของญี่ปุ่น”  มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ (1) เพื่อศึกษาคติความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและวิญญาณของชาวญี่ปุ่น   (2) เพื่อศึกษารากฐานของความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและวิญญาณของคนญี่ปุ่น  (3) เพื่อศึกษาอิทธิพลของความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและวิญญาณที่มีต่อชาวญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่า  ความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและวิญญาณของชาวญี่ปุ่นนั้น มีตำนานและเรื่องเล่ามากมาย สามารถแบ่งประเภทได้เป็น 3 ประเภท คือ (1)โอบาเกะ ก็คือ “ผี” (2)โยไคภูติ ผี ปิศาจ บรรดาสัตว์ประหลาดและอสูรกายที่มีมาแต่โบราณ (3) ยูเร คือวิญญาณคนที่ตายไปโดยที่ยังไม่ทันได้ดับจิตหรือเรียกกันว่า “ผีตายโหง” ความเชื่อเหล่านี้รากฐานมากจากศาสนาชินโต ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างลัทธิเต๋าของจีนกันศาสนาดั้งเดิมของญี่ปุ่น อิทธิพลของความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและวิญญาณของญี่ปุ่นมีทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีต คือ (1) ความเชื่อเรื่องโชคลางของญี่ปุ่น เป็นกุศโลบายที่ใช้ความเชื่อมาทำให้คนปฏิบัติตาม โดยใช้ความกลัวของมนุษย์ในความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและวิญญาณเป็นตัวช่วย (2) องเมียวจิ เป็นผู้ใช้วิชาเวทย์มนต์โบราณของญี่ปุ่น ในปัจจุบัน คือ (1) เทศกาลโอบง ในเทศกาลนี้คนญี่ปุ่นจะกลับมายังบ้านเกิดของตนเองเพื่อมากราบไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว (2) การเล่นทดสอบความกล้า ซึ่งเป็นกิจกรรมของคนญี่ปุ่น ที่รวบรวมคน แล้วพาไปทดสอบความกล้าในสถานที่ๆ น่ากลัว … Read more

ศึกษาวิเคราะห์พัฒนาการและเปรียบเทียบความคิดความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าแห่งโชคลาภของจีนและญี่ปุ่น

โดย นางสาวบุณยานุช ศรีสำราญ บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่อง ศึกษาวิเคราะห์พัฒนาการและเปรียบเทียบความคิดความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าแห่งโชคลาภของจีนและญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์พัฒนาการของเทพเจ้าแห่งโชคลาภจากต้นกำเนิดสู่จีนและญี่ปุ่น พร้อมทั้งเปรียบเทียบความคิดความเชื่อของคนจีนและญี่ปุ่นที่มีต่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ซึ่งผลการวิจัยพบว่าเทพเจ้าแห่งโชคลาภมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียนั่นก็คือท้าวกุเวร จากนั้นจึงได้แพร่ขยายเข้าสู่ประเทศจีนและญี่ปุ่นผ่านทางศาสนาพุทธนิกายมหายาน ในฐานะของท้าวจตุโลกบาลและเทพแห่งความร่ำรวย ต่อมาในจีนได้พัฒนาเทพเจ้าแห่งโชคลาภผสมกับความคิดความเชื่อพื้นเมือง มีนามว่าไฉ่ซิงเอี๊ย รูปลักษณ์เป็นขุนนาง เพราะชาวจีนเชื่อว่าขุนนางเป็นชนชั้นที่มีเกียรติ เทพสามารถถูกลดหรือเพิ่มตำแหน่งความสำคัญได้เหมือนกับตำแหน่งของขุนนาง ส่วนในประเทศญี่ปุ่นเทพเจ้าแห่งโชคลาภมีนามว่าบิชามอนเทน เป็นหนึ่งในเทพแห่งความสุขทั้งเจ็ดของญี่ปุ่น ปรากฏรูปลักษณ์ในภาพการ์ตูนเพื่อทำให้เทพเจ้ามีความน่ารักและเข้าถึงง่าย ในเชิงพิธีกรรมชาวจีนและชาวญี่ปุ่นมีการบูชาเทพเจ้าแห่งโชคลาภในวันปีใหม่ เนื่องจากจีนยกให้เทพเจ้าแห่งโชคลาภเป็นสัญลักษณ์ของความมงคลและจะนิยมบูชากระดาษเงินกระทองเพื่อแสดงถึงการมีเงินทองมากมาย ส่วนในญี่ปุ่นจะมีการถวายโอเซจิเป็นอาหารมงคลให้กับเทพเจ้าหลังจากนั้นจึงนำมารับประทานโดยใช้ตะเกียบที่มีสองด้าน หมายถึงการทานอาหารร่วมกันกับเทพเจ้าแสดงถึงเทพเจ้ามีฐานะเท่ากันกับคน ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ความกตัญญูในฐานะจริยศาสตร์ต่างตอบแทนในปรัชญาขงจื่อ

โดย นางสาวนฤภร โรจน์เด่นดวง บทคัดย่อ บทความวิจัย “ความกตัญญูในฐานะจริยศาสตร์ต่างตอบแทนในปรัชญาขงจื่อ” มีวัตถุประสงศ์เพื่อ (1)ศึกษาแนวคิดเรื่อง การต่างตอบแทน 4 แบบในจริยศาสตร์ขงจื่อ (2)ศึกษาคุณธรรม “ความกตัญญู” ในจริยศาสตร์ของขงจื่อ (3)ศึกษาความเป็นธรรมที่ปรากฏในคำสอนเรื่อง “ความกตัญญู” ของขงจื่อ ผลการศึกษาพบว่า การต่างตอบแทนในจริยศาสตร์ขงจื่อมี 4 ความสัมพันธ์ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างบิดา-มารดา-บุตร  ความสัมพันธ์ระหว่างมิตรสหาย ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าผู้ปกครอง-ขุนนาง-ประชาชน และความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า/คนต่างวัฒนธรรม ในการวิจัยนี้เราให้ความสนใจในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบิดา-มารดา-บุตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับความกตัญญูเป็นหลัก และทำให้ทราบว่า “ความกตัญญู” ตามคำสอนของขงจื่อเป็นการต่างตอบแทน ถือเป็นคุณธรรมที่สอดคล้องในคุณธรรมเรื่อง “ความตรง” (จื่อ) กล่าวคือ “ความกตัญญู” เป็นคุณธรรมที่บุตรควรพึงมีต่อบิดามารดา โดยการให้ความเคารพและให้ความสำคัญ อีกทั้งยังให้แนวคิดในเรื่องที่บิดามารดาได้ล่วงละเมิดความถูกต้องแล้วนั้น บุตรมีหน้าที่อย่างไรต่อบิดามารดา บุตรก็ยังคงแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดาโดยใช้คุณธรรม “ความตรง” (จื่อ) ที่ขงจื่อได้กล่าวไว้ บุตรควรตอบแทนโดยการซ่อนความผิดของบิดามารดา “ความตรง” (จื่อ) เป็นวิธีแก้ไขที่เหมาะสมในแนวคิดเรื่อง “ความตรง”(จื่อ) ที่ขงจื่อได้กล่าวไว้ และเป็นวิธีที่เหมาะสมมากกว่าการที่บุตรเห็นบิดามารดาตนล่วงละเมิดความผิดแล้วนำความผิดของบิดามารดาตนไปบอกแก่รัฐให้ลงโทษ ความตรงในฐานะส่วนหนึ่งของความเป็นธรรมต้องพิจารณารวมถึงวิธีที่ถูกต้องเหมาะสมที่จะ “ตอบแทน” การล่วงละเมิดคนอื่นด้วย ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ท่าทีที่มีต่อส่งมึนเมาของชาวพุทธในจีนและทิเบต

โดย นายธีรภัทร  กระจ่างวุฒิชัย บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่อง ท่าทีที่มีต่อส่งมึนเมาของชาวพุทธในจีนและทิเบตวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาท่าทีของพุทธศาสนาทั้งจีนและทิเบตที่มีต่อสิ่งมึนเมา(เหล้า)และความคิดความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังท่าทีเหล่านั้นซึ่งผลการวิจัยพบว่าท่าทีของพุทธศาสนาทั้งจีนและทิเบตที่มีต่อสิ่งมึนเมานั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ท่าทีคือยอมรับและไม่ยอมรับ โดยในท่าทียอมรับมีความเชื่อทางศาสนาในเรื่องของหลักคำสอนที่เน้นในเรื่องของการกำหนดจิตเป็นสำคัญ ความเชื่อเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมที่มีธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับเหล้ามาก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามายังจีนและทิเบต และเหล้าก็เป็นสิ่งมงคลที่จะขาดไม่ได้ในงานเฉลิมฉลอง ความคิดเกี่ยวกับสุขภาพในเรื่องสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำรุงรักษาร่างกายอยู่เบื้องหลัง ในท่าทีไม่ยอมรับนั้นมีความเชื่อทางศาสนาในเรื่องหลักธรรมศีลห้าที่ให้ละเว้นในการยุ่งเกี่ยวกับสิ่งมึนเมา ความคิดเกี่ยวกับสุขภาพในเรื่องของการดื่มเหล้าที่มากเกินความพอดีนั้นเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆมากมายจนสามารถนำไปสู้การเสียชีวิตได้ในที่สุดอยู่เบื้องหลัง ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ชัมบาลา อาณาจักรความเชื่อของชาวทิเบต

โดย นางสาวธัญรดา ชุนถนอม บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่อง ชัมบาลา อาณาจักรความเชื่อของชาวทิเบต มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตำนานความเชื่อเรื่องอาณาจักรชัมบาลาของชาวทิเบต และการศึกษาการตีความหลักชัมบาลาไปสู่การประยุกต์ใช้ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับชัมบาลาในทิเบตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือตำนานและความเชื่อที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนา แต่เดิมทิเบตเป็นดินแดนที่นับถือศาสนาเพิน ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามาชัมบาลาอาจเป็นเหมือนอาณาจักรโบราณที่บันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์เหมือนกับอาณาจักรชางชุง ซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีอำนาจ และเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาเพิน เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมของทิเบต ส่วนตำนานและความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา เชื่อว่าชัมบาลาเป็นอาณาจักรที่ผู้ที่หมั่นศึกษาและปฏิบัติธรรม และศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงจะสามารถเข้าไปในอาณาจักรนี้ได้ นอกจากนี้ความเชื่อเกี่ยวกับชัมบาลาสามารถนำมาตีความได้ 4 แบบ คือ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช เป็นการตีความชัมบาลาในลักษณะของหลักปฏิบัติ การตีความแบบนิโคลาส โลเอริก เป็นการตีความในเชิงโบราณคดี การตีความในรูปแบบของมนุษย์ต่างดาว เชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความก้าวหน้าเทคโนโลยี และการตีความในรูปแบบของนวนิยาย ที่อิงจากตำนานที่มีอยู่ในทิเบตเพื่อความสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีการตีความในลักษณะของการปฏิบัติ ใน 2 รูปแบบที่สามารถปฏิบัติโดยไม่ต้องผ่านศาสนาและผ่านพุทธศาสนา และสุดท้ายการตีความในเชิงการเมือง หลักปฏิบัติในการปกครอง ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันได้ เพื่อสร้างสังคมที่ดี ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ความเชื่อเรื่องสีแดงของชาวจีน

โดย นางสาวกนกกร  สุขศิริวัฒนโรจน์ บทคัดย่อ บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเชื่อเรื่องสีแดงของชาวจีนและศึกษาความเปลี่ยนแปลงของความเชื่อเรื่องสีแดงผลการวิจัยพบว่าสีแดงในความคิดและความเชื่อของคนจีนแสดงถึงความรักชาติความศักดิ์สิทธิ์แสงสว่าง ขับไล่สิ่งอัปมงคลและความเป็นสิริมงคล ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับสีแดงที่สะท้อนผ่านเทศกาล ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวจีน คือ ความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์และการมีชีวิต ที่สะท้อนเทศกาลตรุษจีน ประเพณีการแต่งงาน เทศกาลขนมจ้างและแข่งเรือมังกร ส่วนความเชื่อเรื่องสิริมงคลจะปรากฎในข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงของความเชื่อเรื่องสีแดง ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงก่อนยุคปฏิวัติวัฒนธรรม สีแดงเป็นสีที่มีความสัมพันธ์และเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิต ต่อมาในสมัยราชวงศ์โจวมีความเชื่อว่าสีแดงแสดงถึงพลังอำนาจ ในสมัยราชวงศ์หมิงนั้นสีแดงใช้เพื่อความสวยงามและยังหมายถึงความสูงส่งเพราะใช้เป็นชุดแต่งกายของขุนนาง ส่วนในราชวงศ์ชิงสีแดงจะไม่เป็นที่นิยมเพราะเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ระหว่างราชวงศ์หมิงกับราชวงศ์ชิง ความเปลี่ยนแปลงในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม มีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อจากสีแดงที่เป็นสีที่ศักดิ์สิทธ์มาเป็นสีแดงที่หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์ และความคิดเกี่ยวกับชาติ ส่วนความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน สีแดงสามารถใช้ได้ทั่วไปโดยไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อหรือชนชั้นอีกแล้ว  จะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องสีแดงนั้นได้หล่อหลอมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับรูปแบบการดำรงชีวิตหลากหลายแบบของคนจีน ดาวน์โหลด บทความวิจัย

แฟนไซต์กับซาแซงแฟน : วัฒนธรรมนิยมศิลปินในเกาหลีใต้

โดย นางสาวศิวนาถ ประสพสวัสดิ์ บทคัดย่อ บทความวิจัยเล่มนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมรูปแบบแฟนไซต์และซาแซงแฟน รวมถึงศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยทั้งด้านความคิดและปัจจัยด้านอื่นๆที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของแฟนไซต์และซาแซงแฟนในประเทศเกาหลีใต้จากการศึกษาพบว่า กลุ่มแฟนไซต์และซาแซงแฟนในประเทศเกาหลีใต้มีการรวมกลุ่มที่มีรูปแบบพฤติกรรมการรวมกลุ่มแตกต่างกัน โดยกลุ่มแฟนไซต์จะเป็นลักษณะกลุ่มคนที่ชื่นชอบศิลปินที่ใช้กล้องถ่ายรูปศิลปินและเผยแพร่ลงสู่สื่อออนไลน์ในอินเทอร์เน็ต และพร้อมสนับสนุนศิลปินทุกรูปแบบโดยการทุ่มเทไปกับการซื้ออัลบั้มเพื่อลุ้นชื่อผู้โชคดีเข้าไปในงานแจกลายเซ็น อีกทั้งยังมีการขายสินค้าในรูปแบบของตนเองโดยใช้ภาพที่ถ่ายจากศิลปินจำหน่ายเพื่อหารายได้ให้ตนเองต่อไป ส่วนกลุ่มซาแซงแฟนจะมีพฤติกรรมชื่นชอบและคลั่งไคล้ศิลปิน มีการติดตามและคุกคามก้าวก่ายชีวิตทั้งในชีวิตประจำวันและช่องทางสื่อในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มแฟนไซต์แล้ว กลุ่มซาแซงแฟนส่งผลร้ายและก่อปัญหามากกว่ากลุ่มแฟนไซต์ เมื่อได้พิจารณาถึงแนวคิดหรือปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของแฟนไซต์และซาแซงแฟนให้ดีแล้ว จะพบว่ารูปแบบพฤติกรรมต่างๆนั้นมีที่มาและสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน แนวความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมคือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอย่างรวดเร็วส่งผลให้วัฒนธรรมแฟนกลายเป็นวัฒนธรรมสมัยใหม่ จากแนวความคิดเรื่องการรวมกลุ่มและความเป็นชาตินิยมที่ฝังรากลึกลงมาก็ส่งผลให้แฟนไซต์และซาแซงแฟนที่ชื่นชอบคลั่งไคล้ในตัวศิลปินเกิดพฤติกรรมการรวมกลุ่มกัน แนวคิดเกี่ยวกับทัศนคติที่มองว่าการชื่นชอบ คลั่งไคล้และการเข้าใกล้ศิลปินได้เป็นสิ่งที่ดี ปัจจัยทางด้านสังคมที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้วิธีคิดของแฟนไซต์และซาแซงแฟนต่างกัน ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจคือรัฐบาลให้กับสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องของการผลิตศิลปินผ่านสื่อต่างๆและภาพลักษณ์ของตัวศิลปินเองที่ทำให้แฟนไซต์และซาแซงแฟนอยากใกล้ชิด เหล่านี้ล้วนส่งผลถึงพฤติกรรมของแฟนไซต์และซาแซงในรูปแบบแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของกลุ่มทั้งสิ้น ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาของลักษณะตัวละครในละครชุดโทรทัศน์เกาหลี เรื่อง it’s ok that’s love

โดย นางสาวพิชชาพร เจริญศรีมาพร บทคัดย่อ บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะพฤติกรรมและวิเคราะห์ตัวละครเอกในด้านบุคลิกภาพ ทั้ง 4 คนได้แก่ จางแจยอล จีแฮซู พัคซูกวาง และ จางแจบอม จากละครชุดโทรทัศน์เกาหลีเรื่อง It’s Okay, That’s Love ผลศึกษาพบว่า พฤติกรรมต่างๆของตัวละครแต่ละตัวนั้นมีผลมาจากภูมิหลังที่แตกต่างกันออกไป ทุกพฤติกรรมสามารถอธิบายได้ด้วยมุมมองทางจิตวิทยา ทำให้เราได้รู้และเข้าใจถึงเบื้องหลังการกระทำนั้นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องการเลี้ยงดูและปลูกฝังที่ตัวละครได้รับ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าคนปกติในสังคมนั้นต่างก็มีปัญหาที่แตกต่างกันทุกคนสามารถมีอาการทางจิตได้ อาการทางจิตนั้นก็เหมือนกับอาการเจ็บป่วยไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ผู้ป่วยนั้นสามารถหายได้หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและความรักความใส่ใจจากคนรอบข้าง ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การวิเคราะห์ลักษณะตัวละครหลักในการ์ตูนเรื่องยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน : มุมมองจากจิตวิทยา

โดย นางสาวนิสาชล ศรีพารัตน์ บทคัดย่อ บทความวิจัยนี้มีจุดประสงค์คือศึกษาลักษณะพฤติกรรมตัวละคร และวิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลต่อลักษณะของตัวละครในการ์ตูนเรื่องยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน ผลการศึกษาพบว่าตัวละครหลักในเรื่องมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป แต่ละพฤติกรรมที่แสดงออกสอดคล้องกับการเลี้ยงดูและปลูกฝังที่ตัวละครแต่ละตัวได้รับ และทุกพฤติกรรมสามารถอธิบายได้ด้วยมุมมองทางจิตวิทยาว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งบางพฤติกรรมมีมุมมองทางจิตวิทยาหลายแบบที่นำมาอธิบายได้ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การเปรียบเทียบคนทรงเจ้าระหว่างประเทศเกาหลีใต้กับประเทศญี่ปุ่น

โดย นางสาวณัฐวดี ยอดแก้ว บทคัดย่อ บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความเชื่อและรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับคนทรงประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น  และเพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงบทบาท  ความสำคัญของคนทรงประเทศเกาหลีใต้ญี่ปุ่น ผลการศึกษาพบว่าด้านบทบาทหน้าที่ของมูดังจากอดีตจนถึงปัจจุบันไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก  แต่มีการลดบทบาทและความสำคัญลงโดยทำให้มูดังอยู่ในฐานะสินค้าทางด้านวัฒนธรรมควบคู่กับอาชีพคนทรงเจ้า  ในขณะที่มิโกะมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดด้วยการกลายเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ในศาลเจ้าในปัจจุบัน  ด้านการแสดงของคนทรงเจ้า ในเกาหลีใต้การแสดงของมูดังสามารถจัดแสดงที่ใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการประกอบพิธีกรรมเหมือนดังสมัยก่อน  ซึ่งแตกต่างกับญี่ปุ่นที่การแสดงของมิโกะยังคงเป็นส่วนสำคัญของการประกอบพิธีกรรมอยู่เสมอ  ด้านกลุ่มผู้ใช้บริการคนทรงเจ้าทั้งสองประเทศมีความแพร่หลาย  ผู้คนมาจากหลากหลายชนชั้น  แต่เมื่อช่วงเวลาผ่านไปผู้ใช้บริการมูดังเริ่มลดน้อยลง  ส่วนผู้ใช้บริการมิโกะลดลงทันทีเมื่อมิโกะมิได้ทำหน้าที่เป็นคนทรงเจ้าอีกต่อไป  แต่ยุตะซึ่งเป็นร่างทรงจังหวัดโอกินาว่ายังคงมีกลุ่มผู้มาใช้บริการพวกเธออย่างต่อเนื่อง  ด้านแนวความคิดลัทธิดั้งเดิมหรือไสยศาสตร์ที่แต่เดิมทั้งสองประเทศต่างให้ความสำคัญกับหญิงทรงเจ้า  และต่อมาความเชื่อดั้งเดิมที่ผูกพันกับมิโกะได้สูญหายไป  แต่ความเชื่อด้านไสยศาสตร์ที่สัมพันธ์กับมูดังและยุตะยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์  ด้านการยอมรับนั้น สำหรับมูดังแล้วแต่เดิมผู้คนยอมรับพวกเธอในฐานะคนทรงจากความสามารถต่างๆ  และต่อมายอมรับในฐานะสินค้าด้านวัฒนธรรมมากกว่าคนทรง  ส่วนมิโกะในอดีตการยอมรับเกิดขึ้นจากฐานันดร  แต่ช่วงเวลาต่อมาเหล่ามิโกะมิได้ถูกยอมรับในฐานะคนทรงเจ้าแล้ว  ด้านพรหมจรรย์ของคนทรงเจ้าทั้งสองประเทศมีลักษณะเหมือนกันคือ อดีตกาลเหล่าคนทรงมักเคร่งครัดในเรื่องความบริสุทธิ์  แต่ปัจจุบันคนทรงเจ้าสามารถแต่งงานและมีครอบครัวได้  ด้านความศักดิ์สิทธิ์ของเหล่ามูดังและมิโกะในยุคอดีตเป็นที่กล่าวขานไปทั่วทั้งอาณาจักร  แต่ต่อมาแนวความคิดตะวันตกทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมูดังลดลง  และการเข้ามาของอิทธิพลจากประเทศจีนทำให้ความเลื่อมใสศรัทธาของมิโกะสูญหายไป  ด้านการนับถือเทพเจ้าและวิญญาณนั้น  มูดังมีการทรงเจ้าเทพเจ้าจากศาสนาต่างๆ ที่พยามเข้ามาเรื่อยๆ  ส่วนมิโกะและยุตะก่อนการเข้ามาของศาสนาจากประเทศจีนมีการเข้าทรงเทพและวิญญาณพื้นเมืองเช่นเดียวกับมูดัง  แต่เมื่อจีนเข้ามาพวกเธอจะไม่ทรงเจ้าเทพและวิญญาณจากศาสนาต่างชาติใดๆ ทั้งสิ้น ดาวน์โหลด บทความวิจัย