การศึกษาพฤติกรรมการเลือกที่พักของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น : กรณีศึกษา เขตเทศบาลอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดย นางสาวจิณณพัต  พงษ์จิตภักดิ์

บทคัดย่อ

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งสถานที่พักแรมก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเดินทางมาท่องเที่ยว สารนิพนธ์เล่มนี้จึงได้ทำการศึกษาประเภทของที่พักแรมที่เป็นที่นิยม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกที่พักแรม ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อที่พักแรม และเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาจัดการบริการ การประกอบธุรกิจที่พักสำหรับชาวญี่ปุ่นในเขตเทศบาลอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีวิธีการศึกษาเชิงปริมาณ คือการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการเก็บแบบสอบถามนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 จำนวน 30 ชุด และนำมาวิเคราะห์เป็นสถิติเชิงพรรณนา

จากผลการศึกษาพบว่าสถานที่พักแรมที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในเขตเทศบาลอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือสถานที่พักแรมประเภทรีสอร์ท (Resort) รองลงมาคือสถานที่พักแรมประเภทโรงแรมย่านพาณิชย์หรือโรงแรมในตัวเมือง (Commercial Hotel/City Hotel) และที่พักแรมประเภทหอพัก (Hostel/Domitory) ตามลำดับ โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกที่พักแรมคือความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและการจองที่พักทางอินเตอร์เน็ต การบริการอาหารเช้า สระว่ายน้ำ บริการอินเตอร์เน็ต/wifi สิ่งอำนวยความสะดวกในที่พัก ที่ตั้งของที่พักที่อยู่ใกล้ชายหาดและอยู่ในบริเวณใจกลางเมือง ความสามารถในการเดินทาง มีการส่งเสริมการขายโดยมีส่วนลดหรือการได้คะแนนสะสม นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังมีความพึงพอใจต่อที่พักแรมที่มีทำเลที่ตั้งดี มีความเหมาะสมกับราคา มีความปลอดภัยและมีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับแนวทางในการพัฒนาการจัดการ การประกอบธุรกิจที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น คือการเตรียมความพร้อมในเรื่องของบุคลากรที่ให้การบริการด้วยความใส่ใจและมีความพยายามในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว และการเตรียมความพร้อมในเรื่องของที่พักแรมให้มีการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เช่น การเพิ่มรูปภาพในเมนูอาหารหรือการเพิ่มคำอธิบายต่างๆเป็นภาษาญี่ปุ่น รวมทั้งเตรียมความพร้อมในเรื่องของสภาพแวดล้อมและกิจกรรมต่างๆภายในที่พักแรม

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf