การศึกษาบทบาทของรัฐบาลประธานาธิบดีปักจุงฮีในการพัฒนาชนบทของประเทศเกาหลีใต้

นางสาวปฏิญญา ชาชุมพร

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องการศึกษาบทบาทของรัฐบาลประธานาธิบดีปักจุงฮีในการพัฒนาชนบทของประเทศเกาหลีใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของรัฐบาลประธานาธิบดีปักจุงฮีในการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อ พัฒนาพื้นที่ชนบทของประเทศเกาหลีใต้ และศึกษาปัจจัยที่ส่งผลให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตชนบทของประเทศเกาหลีใต้ โดยศึกษาจากหนังสือ บทความในวารสาร งานวิจัย และสื่อออนไลน์ต่างๆ

ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีปักจุงฮีให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบท สามารถแบ่งได้เป็น 2 แง่ คือในแง่การเมือง และแง่เศรษฐกิจ (1) ในแง่การเมือง พบว่าแรงจูงใจในการพัฒนาชนบทคือเพื่อรักษาฐานเสียงทางการเมืองจากชาวชนบท ซึ่งเป็นฐานเสียงกลุ่มใหญ่ (2) ในแง่เศรษฐกิจ เนื่องจากชาวชนบทมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นยากจน ราคาผลผลิตทางการเกษตรถูกกดขี่ เพื่อให้ชาวเมือง ซึ่งเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในขณะนั้นสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกลง เนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกให้ความช่วยเหลือในเรื่องข้าวและเสบียงอาหาร จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพง และการผลิตภายในประเทศเองก็ผลิตได้น้อย เนื่องจากข้อจำกัดทางลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศ เนื่องจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง

ส่วนบทบาทในการพัฒนาชนบทของประเทศเกาหลีใต้ของรัฐบาลประธานาธิบดีปักจุงฮี คือการก่อตั้งโครงการพัฒนาชนบทที่เรียกว่า แซมาอึล อุนดง (Saemaul Undong) หรือขบวนการหมู่บ้านใหม่ ในต้นทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาชนบทรูปแบบผสมผสาน มีลักษณะการดำเนินงานแบบบนลงล่าง กล่าวคือ รัฐบาลเป็นผู้วางแผนการดำเนินงาน และสั่งการให้สภาหมู่บ้านเป็นผู้กำกับดูแล โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบโครงการ รวมถึงยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลร่วมดำเนินโครงการด้วย สภาหมู่บ้านจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้นำเป็นชายและหญิงอย่างละ 1 คน เป็นผู้นำในการพัฒนาในชุมชนของตนเอง

ในกระบวนการดำเนินงาน ชาวบ้านในแต่ละชุมชนจะเป็นผู้กำหนดปัญหา และความต้องการของชุมชนตนเอง ว่าจะดำเนินโครงการใดเพื่อพัฒนาปรับปรุงหมู่บ้านของตนให้ดีขึ้น แล้วส่งต่อให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้อนุมัติโครงการ โดยรัฐจะเป็นผู้สนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ หรือเงินทุน หากชุมชนใดขาดแคลน ส่วนการดำเนินโครงการนั้น ๆ ก็จะเป็นหน้าที่ของชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยจะต้องส่งความคืบหน้าในการการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานรัฐเป็นผู้ประเมินอย่างสม่ำเสมอ

ผลลัพธ์หลังจากการดำเนินโครงการพบว่า สภาพแวดล้อมภายในชุมชนดีและทันสมัยยิ่งขึ้น มากกว่านั้น ชาวชนบทมีคุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รายได้ชาวชนบทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นมากกว่ารายได้ชาวเมือง ในปี ค.ศ. 1974-1977

บทความวิจัยฉบับเต็ม