เสียงประท้วงผ่านวรรณกรรม ในงานของนักเขียนกลุ่มบุไรฮะ : กรณีศึกษา บุไรฮะ รวมผลงานของนักเขียนกลุ่มปฏิปักษ์สังคม

นางสาวชลทิชา อยู่เย็น

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเสียงประท้วงผ่านวรรณกรรม ในงานของนักเขียนกลุ่มบุไรฮะ : กรณีศึกษา บุไรฮะรวมผลงานของนักเขียนกลุ่มปฏิปักษ์สังคม แปลโดย พรพิรุณ กิจสมเจตน์ รวบรวมผลงานเขียนโดยสำนักพิมพ์เจลิท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบททางสังคมและประวัติของนักเขียนกลุ่มบุไรฮะในหนังสือ บุไรฮะ รวมผลงานของนักเขียนกลุ่มปฏิปักษ์สังคม และศึกษาผลงานวรรณกรรมของนักเขียนกลุ่มบุไรฮะในฐานะกระบอกเสียงเรียกร้องและวิพากษ์สังคมญี่ปุ่นในยุคไทโชและโชวะ (ถึง ค.ศ. 1946)

ผลการศึกษาพบว่า ผลงานประพันธ์ของนักเขียนกลุ่มบุไรฮะสะท้อนภาพสังคมญี่ปุ่นที่สิ้นหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกยุติ แนวคิดงานเขียนของนักเขียนกลุ่มบุไรฮะค่อนข้างมีเอกลักษณ์เนื่องจากเป็นผลงานที่ท้าทายขนบธรรมเนียมจริยธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น นอกจากผลงานเขียนที่สะท้อนภาพความสิ้นหวังหดหู่แล้ววิถีชีวิตส่วนตัวของเขียนกลุ่มนี้ก็ท้าทายขนบธรรมเนียมจริยธรรมอันดีของสังคมญี่ปุ่นเช่นกัน พวกเขาเติบโตและใช้ชีวิตในฐานะชาวญี่ปุ่นและนักประพันธ์ในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงและผันผวนของจักรวรรดิญี่ปุ่น จนกระทั่งจักรวรรดิญี่ปุ่นกลายเป็นเพียงประเทศผู้แพ้สงครามความเปลี่ยนแปลงผกผันอย่างรวดเร็วทันทีที่แพ้สงครามนี้เองทำให้สังคมญี่ปุ่นไร้ความหวัง ประชาชนรวมขาดที่ยึดเหนี่ยวศรัทธาในจริยธรรมที่สูงส่งพังทลาย กลุ่มนักเขียนบุไรฮะนี้เองที่ก้าวขึ้นมาประพันธ์ผลงานเรียกร้องให้สังคมญี่ปุ่นละทิ้งศีลธรรมจริยธรรมที่รัฐบาลทหารต่างพร่ำบอกให้ชาวญี่ปุ่นสละชีพเพื่อชาติและองค์จักรพรรดิ วิถีทางเดียวที่จะช่วยให้ประเทศญี่ปุ่นไม่สูญสิ้นไปคือการละทิ้งศีลธรรมเหล่านั้น และใช้ชีวิตไปตามแรงผลักของสัญชาติญาณคือธรรมชาติ มิใช่การที่ผู้นำทางการเมืองออกกฎเกณฑ์อื่น ๆ หรือหาทางออกทางการเมืองให้สังคมทำตาม