การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมแปลญี่ปุ่น เรื่องคำสารภาพ

นายชลสิทธิ์ โชติวุฒิ

บทคัดย่อ

บทความวิจัย “การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมแปลญี่ปุ่น เรื่องคำสารภาพ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบของวรรณกรรมเรื่อง คำสารภาพ ทั้งโครงเรื่อง แก่นเรื่อง ตัวละคร บทสนทนา ฉากและบรรยากาศ และศึกษาคุณค่าของวรรณกรรมเรื่อง คำสารภาพ ที่แปลโดยกนกวรรณ เกตุชัยมาศ

ผลการศึกษาพบว่า ด้านองค์ประกอบของวรรณกรรม แนวคิดหรือแก่นของเรื่องคำสารภาพ แสดงให้เห็นถึงความไม่ปกติภายในจิตใจของมนุษย์และปัญหาต่าง ๆ ในสังคมอันนำมาสู่โศกนาฏกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่ควรได้รับการคุ้มครองดูแลและปกป้องอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เยาวชนส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาที่มาจากคนใกล้ตัวหรือคนภายในครอบครัว โครงเรื่องให้ความสำคัญกับความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม ตัวละครแบ่งออกได้ 2 ประเภทคือ ตัวละครที่มีบทบาทเป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง 3 ตัวละคร คือ คุณครูยูโกะ นะโอะกิและชูยะ และตัวละครที่มีบทบาทเป็นตัวละครสนับสนุนของเรื่องที่เข้ามาช่วยให้วรรณกรรมเรื่องนี้สมบูรณ์และเข้มข้นอีก 4 ตัวละคร คือ คุณครูซะกุระโนะมิยะ มิสุกิ คุณครูโคะชิคิและแม่ของนะโอะกิ ผู้แต่งเน้นการบรรยายเป็นหลักผ่านบันทึกของตัวละคร ฉากที่สำคัญในวรรณกรรมเรื่องนี้คือ ฉากโรงเรียน โดยใช้ฉากโรงเรียนในการเปิดและปิดเรื่อง ส่วนบรรยากาศของฉากในเรื่องนี้ใช้คำบรรยายอย่างชัดเจน ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่สับสน ด้านคุณค่าที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องคำสารภาพ มีคุณค่าทางด้านอารมณ์ คุณค่าทางด้านศีลธรรม และคุณค่าทางด้านสังคมและวัฒนธรรม