กลวิธีการแปลคำอุทานภาษาเกาหลีเป็นภาษาไทย: กรณีศึกษารายการปกิณกะบันเทิง Six Sense

นางสาวฌัชชา เวียงวิเศษ

บทคัดย่อ

คำอุทานเป็นคำที่ทำหน้าที่แสดงเจตนาของผู้พูดให้ผู้ฟังเข้าใจ อีกทั้งยังปรากฏใช้ทั่วไปในทุกภาษาทั่วโลก งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกประเภทคำอุทานภาษาเกาหลี และเพื่อวิเคราะห์กลวิธีการแปลคำอุทานภาษาเกาหลีเป็นภาษาไทย ข้อมูลมาจากคำอุทานภาษาเกาหลีที่ปรากฏในรายการปกิณกะบันเทิง Six Sense ภาค 1 และภาค 2 รวมจำนวน 304 คำ ผลการวิจัยพบว่าคำอุทานภาษาเกาหลีจำแนกตามเกณฑ์ความหมายได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) คำอุทานแท้ พบจำนวน 266 คำ และ 2) คำอุทานที่เกิดจากการนำคำในหมวดคำอื่นมาใช้เป็นคำอุทาน พบจำนวน 38 คำ หากใช้หน้าที่เป็นเกณฑ์จะสามารถจำแนกคำอุทานภาษาเกาหลีได้เป็น 12 ประเภท ที่พบมากคือคำอุทานแสดงความรู้สึกตกใจ คำอุทานแสดงความรู้สึกประหลาดใจ และคำอุทานแสดงความสงสัยหรือไต่ถาม ด้านกลวิธีการแปลคำอุทานภาษาเกาหลีเป็นภาษาไทยพบ 6 กลวิธี ได้แก่ การแปลตรงตัว การแปลด้วยการถอดเสียงคำตามภาษาต้นฉบับ การแปลตามบริบทที่ผู้พูดแสดงออก การแปลโดยการเพิ่มความ การแปลเป็นคำอุทานภาษาไทย และการแปลเป็นคำอุทานภาษาไทยด้วยการเปลี่ยนหมวดคำ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าบริบทมีผลต่อกลวิธีการแปลคำอุทานภาษาเกาหลีเป็นภาษาไทย ทำให้ผู้แปลสามารถแปลคำอุทานภาษาต้นฉบับเป็นภาษาฉบับแปลได้อย่างเหมาะสมกับผู้พูดหรือสถานการณ์ต่าง ๆ