การศึกษาวรรณกรรมแปลญี่ปุ่น เรื่อง ฝันถึงเรื่องนั้นอีกแล้ว และ ตับอ่อนเธอนั้นขอฉันเถอะนะ

นายพีรธัช เทียนหอม

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “การศึกษาวรรณกรรมแปลญี่ปุ่น เรื่อง ฝันถึงเรื่องนั้นอีกแล้ว และ ตับอ่อนเธอนั้นขอฉันเถอะนะ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์และกลวิธีนำเสนอแนวคิดดังกล่าวในวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นเรื่อง ฝันถึงเรื่องนั้นอีกแล้ว และ ตับอ่อนของเธอนั้นขอฉันเถอะนะ ของซูมิโนะ โยรุ โดยมีวิธีการศึกษาแนวคิดผ่านการวิเคราะห์องค์ประกอบทางวรรณกรรม และพิจารณาความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์กลวิธีนำเสนอแนวคิดของผู้เขียน

ผลการศึกษาพบว่านวนิยายเรื่อง ตับอ่อนเธอนั้นขอฉันเถอะ มีแนวคิดที่ปรากฏทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ แนวคิดหลักคือ “ความสัมพันธ์กับผู้คนเป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์” ซึ่งสะท้อนจากตัวละครสำคัญของเรื่อง และแนวคิดเสริมอีก 2 กลุ่ม คือ แนวคิดความเป็นอนิจจังของชีวิตมนุษย์และแนวคิดเจตจำนงเสรี ส่วนนวนิยายเรื่อง ฝันถึงเรื่องนั้นอีกแล้ว ปรากฏแนวคิดที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ 2 แนวคิด ได้แก่ แนวคิดหลักคือ “ความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์คือการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น” ซึ่งเห็นได้จากปมปัญหาของเรื่อง และแนวคิดเสริมคือ “การยอมรับความแตกต่างของกันและกัน” ที่เห็นได้จากพัฒนาการของตัวละครเอก ส่วนกลวิธีการนำเสนอพบว่า ผู้เขียนได้ใช้ 3 กลวิธีในการนำเสนอแนวคิดในนวนิยายทั้งสองเรื่องคือ การกำหนดมุมมองผู้เล่าเรื่อง การกำหนดโครงเรื่อง และการกำหนดกลวิธีการเล่าเรื่อง แต่มีจุดเด่นแตกต่างกัน โดยนวนิยายเรื่อง ตับอ่อนเธอนั้นขอฉันเถอะ โดดเด่นในการนำเสนอผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครเอกกับนางเอกที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบแนวคิดและการใช้สัญลักษณ์ “ตับอ่อน” ซึ่งช่วยสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน ขณะที่ นวนิยายเรื่อง ฝันถึงเรื่องนั้นอีกแล้ว เน้นให้เห็นแนวคิดผ่านการวางปมปัญหาของตัวละครเอกที่เป็นเด็ก และการใช้ตัวละครของผู้เขียนที่ให้ตัวละครเอกในวัยต่าง ๆ อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านประหลาดใจและเข้าใจแนวคิดของผู้เขียนได้ง่ายและชัดเจน ทั้งนี้นวนิยายทั้งสองเรื่องต่างนำเสนอให้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ในชีวิตของมนุษย์