การศึกษานวนิยายแปลจีนเรื่อง “สามชาติผูกพัน แม่น้ำลืมเลือน”

นางสาวภัทรวดี เสรีธวัช

บทคัดย่อ

บทความวิจัย “การศึกษานวนิยายแปลจีนเรื่อง สามชาติผูกพัน แม่น้ำลืมเลือน” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบของนวนิยายได้แก่ โครงเรื่อง แก่นเรื่อง ตัวละคร ฉาก บทสนทนา กลวิธีการแต่ง และคุณค่าของนวนิยายแปลจีนเรื่อง “สามชาติผูกพัน แม่น้ำลืมเลือน” โดยศึกษาจากทฤษฎีการวิเคราะห์วรรณคดีและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมแปลจีน

ผลการศึกษาพบว่านวนิยายเรื่องนี้มีโครงเรื่องใหญ่คือ เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างตัวละครเอกกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งก็คือเคราะห์กรรมที่สวรรค์กำหนด โครงเรื่องย่อยคือ เรื่องราวความรักของซานเซิงและเทพสงครามโม่ซี โดยผู้แต่งได้สร้างปมความขัดแย้ง 3 ประการคือ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ และความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับตนเอง แก่นเรื่องกล่าวถึงแง่คิดเกี่ยวกับการเกิดใหม่และชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้วของสรรพชีวิต และให้แง่คิดเรื่องการปล่อยวางและความไม่แน่นอนของชีวิต ตัวละครแบ่งออกเป็น 2 บทบาทคือ ตัวละครเอกและตัวละครประกอบ โดยตัวละครเอกเป็นตัวละครหลายลักษณะนิสัย ส่วนตัวละครประกอบมีทั้งหลายลักษณะนิสัยและน้อยลักษณะนิสัย ฉากในนวนิยายเรื่องนี้แบ่งได้เป็นสองฉากหลัก ๆ คือ ฉากในปรโลก และฉากในโลกมนุษย์ บทสนทนามีส่วนช่วยในการดำเนินเรื่องแทนการบรรยายของผู้แต่ง กลวิธีการเล่าเรื่องแบบกำหนดให้ตัวละครเอกเป็นผู้เล่าเรื่องด้วยมุมมองของตนเอง กลวิธีการดำเนินเรื่องแบบเล่าเรื่องตามลำดับปฏิทิน ผลการศึกษาคุณค่าที่ได้รับคือ คุณค่าด้านอารมณ์ คุณค่าด้านคติสอนใจ และคุณค่าด้านความเชื่อ