ศึกษาวรรณกรรมแปลเรื่อง “อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว” : ตัวละครสุขนาฎกรรมและการเสียดสีสังคมญี่ปุ่นยุคต้นเมจิ

นายภาณุวิชญ์ พจนาอารีย์วงศ์

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง “ศึกษาวรรณกรรมแปลเรื่อง “อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว” : ตัวละครสุขนาฎกรรมและการเสียดสังคมญี่ปุ่นยุคต้นเมจิ” เป็นบทความศึกษาวรรณกรรมแปลเรื่อง อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว เขียนโดย นัตสึเมะโซเซกิ และชัญพัส วรศักดิ์ เป็นผู้แปล มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพสังคมของประเทศญี่ปุ่นในช่วงยุคสมัยเมจิ ผ่านการศึกษาจากการแสดงพฤติกรรมของตัวละครและจากสภาพสังคมใน วรรณกรรมแปลเรื่อง อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมวผ่านมุมมองแบบวรรณกรรมcomedy หรือวรรณกรรมสุขนาฏกรรม

ผลจากการศึกษาพบว่า วรรณกรรมเรื่อง อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว ได้นำเสนอสภาพสังคมในยุคต้นเมจิที่มีความขัดแย้งทางความคิดระหว่างแนวคิดแบบเก่า กับ แนวคิดแบบใหม่ที่รับอิทธิพลมาจากตะวันตก โดยนำเสนอผ่านลักษณะพฤติกรรมและแนวคิดของตัวละครต่างๆ ตัวละครแต่ละตัวเปรียบเสมือนตัวแทนแนวคิดทั้งสองฝ่ายที่มีความรู้ความเข้าใจและความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น คุชามิที่เปรียบเสมือนตัวแทนแนวคิดแบบเก่าที่ขาดความเข้าใจในบริบทของยุคใหม่ คังเง็ตสึเปรียบเสมือนตัวแทนของยุคใหม่ที่ มีความรู้ความเข้าใจที่ทันยุคสมัย และแมวไร้ชื่อเป็นตัวละครที่ทำหน้าที่วิพากษ์พฤติกรรมเหล่านั้น