ชื่อเมืองในภาคตะวันออกของจีน: การศึกษาทางอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์

นางสาวเวธกา ลิกขไชย

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง “ชื่อเมืองในภาคตะวันออกของจีน: การศึกษาทางอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหมายของชื่อเมืองและภาพสะท้อนทางสังคมและวัฒนธรรมจากชื่อเมืองในภาคตะวันออกของประเทศจีน ผู้วิจัยวิเคราะห์ชื่อเมืองในภาคตะวันออกของจีนใน 6 มณฑล จำนวน 83 ชื่อเมือง โดยใช้แนวคิดเรื่องการจัดกลุ่มทางความหมายและอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์

ผลการศึกษาความหมายของชื่อเมือง พบว่าศัพท์หลักในชื่อเมืองมี 9 กลุ่มความหมาย กลุ่มความหมายที่ปรากฏมากที่สุดคือ ความหมายเกี่ยวกับเขตการปกครอง ส่วนของศัพท์ขยายมี 12 กลุ่มความหมาย กลุ่มความหมายที่ปรากฏมากที่สุดคือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เมื่อนำความหมายของศัพท์หลักและศัพท์ขยายมาเปรียบเทียบกัน พบว่ากลุ่มความหมาย “เขตการปกครอง” และ กลุ่มความหมาย “น้ำและแหล่งน้ำ” ปรากฏในชื่อเมืองมากที่สุด ส่วนรูปศัพท์ที่ปรากฏความถี่สูงสุดในชื่อเมืองทั้งหมดคือ “州” (zhōu) [โจว] จากความหมายที่พบนี้สามารถวิเคราะห์ภาพสะท้อนทางสังคมและวัฒนธรรมจากชื่อเมืองทางภาคตะวันออกของจีนได้ 7 ด้าน ภาพสะท้อนที่เชื่อมโยงกับโลกทัศน์ของคนในพื้นที่มากที่สุดคือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ รองลงมาคือ พรรณพืชและพรรณสัตว์ วิถีชีวิต ลักษณะการปกครอง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ความเชื่อและค่านิยม ลักษณะอื่น ๆ ตามลำดับ

ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาชื่อเมืองว่า ไม่ใช่เพียงแค่การศึกษาภาษาเพื่อการสื่อสารเท่านั้น แต่การศึกษาความหมายของชื่อเมืองยังเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่ ดังเช่นชื่อเมืองทั้ง 6 มณฑลทางภาคตะวันออกของประเทศจีนที่ชื่อมโยงให้เห็นโลกทัศน์ของคนจีนที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติรวมทั้งบริบททางสังคมและวัฒนธรรม จึงกล่าวได้ว่าการศึกษาความหมายของชื่อเมืองมีส่วนช่วยให้เข้าใจผู้คนและพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น