การจำแนกประเภทและการเปรียบเทียบสำนวนภาษาเกาหลีกับภาษาไทยที่มีคำว่า ‘ปาก’

นางสาวสุชานันท์ จอกจอหอ

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง “การจำแนกประเภทและการเปรียบเทียบสำนวนภาษาเกาหลี กับภาษาไทยที่มีคำว่า ‘ปาก’” มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อจำแนกประเภททางความหมายของสำนวนที่มีคำว่า “입” และ “ปาก” ในสำนวนเกาหลีกับสำนวนไทยและ 2) เพื่อเปรียบเทียบภาพเหตุการณ์ที่มีความหมายเดียวกันที่สะท้อนจากการใช้สำนวนทั้งสองภาษา โดยใช้ทฤษฎีต้นแบบของ Eleanor Rosch (1971) และการตีความของ Langacker (2013) วิเคราะห์สำนวนจำนวน 135 สำนวน ประกอบด้วยสำนวนภาษาเกาหลีจากงานวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์สำนวนเกาหลีที่เกี่ยวกับร่างกายของ สิทธินี ธรรมชัย (2558) และหนังสือ 관용어와 속담으로 배우는 한국어ของ วอนและอี (2563) จำนวน 72 สำนวน และสำนวนภาษาไทยจากหนังสือสำนวนไทย โดยขุนวิจิตรมาตรา (2543) หนังสือสำนวนไทย (2513) และหนังสือภาษิต คำพังเพย สำนวนไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2553) จำนวน 63 สำนวน

ผลการศึกษาพบว่า ความหมายของคำว่า “입” ในสำนวนเกาหลี มี 6 ประเภท ได้แก่ การพูดการสื่อสาร อารมณ์ความรู้สึก การรับประทานอาหาร สภาพของคนและสิ่งของ รสนิยมความชอบ และจำนวนคน และสำนวนไทยที่มีคำว่า “ปาก” มี 4 ประเภท ได้แก่ การพูดการสื่อสาร สภาพของคนและสิ่งของ รสนิยมความชอบ และกิริยาอาการ นอกจากนี้พบว่าสำนวนเกาหลีกับสำนวนภาษาไทยสัมพันธ์กับการตีความของผู้ใช้ภาษาดังนี้ คำว่า “입” และ “ปาก” ในสำนวนเกาหลีกับสำนวนไทยที่มีความหมายเดียวกันและมีการตีความคล้ายกัน และคำว่า “입” และ “ปาก” ในสำนวนเกาหลีกับสำนวนไทยที่มีความหมายเดียวกัน แต่มีการตีความแตกต่างกัน